สื่อจีนเกทับอาวุธรัสเซีย

ภาพ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 (SA-22 Greyhound) ของรัสเซีย ในงานแสดงอาวุธ ARMY-2015 ที่สนามซ้อมรบ Alabino ใกล้กรุงมอสโก รัสเซีย วันที่ 18 มิถุนายน 2015 Credit : Igor Dolgov/123rf.com

ช่วงนี้สื่อทหาร Sina ของจีนวิจารณ์เกทับอาวุธรัสเซีย พร้อมกับเคลมว่าอาวุธจีนดีกว่าหนักข้อขึ้นเรื่อยๆครับ ล่าสุดจากเหตุการณ์ที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศที่พัลไมราในซีเรีย สื่อ SANA ของรัฐบาลซีเรียรายงานข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวแค่ว่าอิสราเอลโจมตีทางอากาศ แล้วระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียสามารถสกัดจรวดของอิสราเอลได้หลายลูก เป็น breaking news ทั่วไป แต่สื่อ Sina ของจีนเคลมว่าทั้งหมดเป็นผลงานของเรดาร์ JY-27 ของจีน สามารถตรวจจับจรวดที่อิสราเอลยิงมา ช่วยให้หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียสกัดจรวดได้มากขึ้น ถ้าไม่มีเรดาร์จีน ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียที่สื่อจีนเคลมว่า backward ล้าสมัยทั้ง S-300, Pantsir-S1, S-125, Osa ฯลฯ ก็ทำอะไรไม่ได้

https://www.almasdarnews.com/article/syrian-militarys-new-chinese-made-radar-system-shows-positive-results-media/

ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น หลังรัสเซียเปิดเผยว่าได้ส่งรถถัง T-14 Armata ไปทดสอบในซีเรีย สื่อ Sina ก็เคลมว่า T-14 มีปัญหามากในซีเรีย และไม่ได้ออกรบจริงแต่อย่างใด เป็นแค่อุบายในการโฆษณาโปรโมทอาวุธเท่านั้น ทำนองเดียวกับที่รัสเซียส่งเครื่องบินขับไล่ Su-57 ไปทดสอบในซีเรียก่อนหน้านี้

https://www.almasdarnews.com/article/new-russian-armata-tank-had-many-problems-in-syria-chinese-media/

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สื่อ Sina ก็เสนอให้ซีเรียเปลี่ยนไปใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 หรือ FD-2000 ของจีนแทน เคลมว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียที่ซีเรียมีอยู่ทั้ง S-300, S-200, Buk และ Pantsir-S1 ล้วนแต่ล้มเหลว ไร้ประโยชน์

defenseworld

ส่วนตัวผมมองว่าสื่อจีนต้องการเกทับอาวุธรัสเซีย โปรโมทอาวุธจีน เพื่อขายอาวุธตามปกติ โดยพุ่งเป้าไปที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียที่กองทัพซีเรียใช้งานอยู่ เนื่องจากผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้ซีเรียใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียสกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลได้ไม่เต็มที่ ผลงานหลายครั้งจึงออกมาครึ่งๆกลางๆ เป็นเป้าให้วิจารณ์ได้ง่าย

อธิบายให้เห็นภาพคือระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียส่วนใหญ่เป็นแบบพิสัยใกล้และกลาง เช่น Buk-M2, Pantsir-S1, Osa, Kub, S-125 ฯลฯ ระบบป้องกันภัยทางอากาศเหล่านี้มีระยะยิงไม่ถึงเครื่องบินรบของอิสราเอล ทำได้เพียงสกัดจรวดที่อิสราเอลยิงมาเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาระบบป้องกันภัยทางอากาศเหล่านี้ก็โชว์ผลงานสกัดจรวดของอิสราเอลได้เรื่อยๆ แต่เนื่องจากยุทธวิธีของอิสราเอลทำการยิงจรวดจำนวนมากติดต่อกันหลายระลอก สุดท้ายจึงมีจรวดเล็ดลอดไปทำลายเป้าหมายในซีเรียได้เสมอ วิธีรับมือการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลจึงไม่สามารถพึ่งพาแต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางสกัดจรวดที่ยิงเข้ามาอย่างเดียวได้ ต้องมีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลยิงสวนไปสอยเครื่องบินรบของอิสราเอลด้วย

ปัญหาอยู่ที่พันธมิตรและผู้สนับสนุนหลักของซีเรียคือรัสเซียเป็นนักประสานสิบทิศ ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอล จึงต้องรักษาผลประโยชน์ของอิสราเอลที่ไม่ต้องการให้อิหร่านตั้งฐานทัพในซีเรียประชิดอิสราเอลได้ ที่ผ่านมารัสเซียจึงทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เปิดทางให้อิสราเอลโจมตีทางอากาศในซีเรีย เล็งเป้าหมายหลักไปที่ทหารอิหร่านได้เต็มที่ เป็นเหตุผลที่ก่อนหน้านี้รัสเซียขายระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางให้ซีเรียเท่านั้น เพื่อให้ซีเรียป้องกันตัวได้อย่างเดียวแต่ห้ามสอยเครื่องบินรบของอิสราเอล (พูดง่ายๆคือให้รับหมัดได้ แต่ห้ามต่อยสวน) รัสเซียพึ่งจะส่ง S-300PM จากคลังของกองทัพรัสเซียให้ซีเรียช่วงปลายปี 2018 หลังเกิดเหตุเครื่องบิน Il-20 ของรัสเซียโดนลูกหลง ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียยิงตก ระหว่างการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล จุดประสงค์หลักเพื่อป้องปราม อย่างไรก็ตามแม้ในทางทฤษฎี S-300 ดังกล่าวจะเป็นของซีเรีย อัพเกรดระบบเป็น S-300PMU2 รุ่นส่งออกให้ต่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ S-300 ของซีเรียมีทหารรัสเซียควบคุมอยู่ เมื่อรัสเซียและอิสราเอลตกลงผลประโยชน์กันได้ รัสเซียก็เปิดทางให้อิสราเอลโจมตีทางอากาศได้ตามเดิม โดย S-300 ของซีเรียโดนทหารรัสเซียมัดมือชก ควบคุมอยู่ ให้ตั้งเป็นหุ่นไล่กาไว้เฉยๆ

จริงๆแล้วซีเรียมีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลอีกรุ่นคือ S-200 แต่ใช้ไม่ได้ผลมากนัก เคยยิงเครื่องบินขับไล่ F-16I ของอิสราเอลตกเพียงครั้งเดียว เนื่องจาก S-200 เข้าประจำการตั้งแต่ช่วงยุค 60 จรวดมีขนาดใหญ่ ขาดความคล่องตัว ออกแบบมาสอยเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่เช่น B-52 เป็นหลัก ไม่เหมาะสำหรับใช้สอยเครื่องบินขับไล่

สวัสดี

02.05.2020

แสดงความคิดเห็น