สื่อ Sina ของจีนยังคงจิกกัดอาวุธของรัสเซียอย่างต่อเนื่องครับ เป้าหมายยังคงเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศผลิตในรัสเซียที่ซีเรียใช้สกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ล่าสุดสื่อ Sina เคลมว่าหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียเลิกใช้งานระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 (ภาษารัสเซียออกเสียงว่า “ปานซีร์”) แล้วเนื่องจากประสิทธิภาพไม่น่าพอใจ เปลี่ยนไปใช้งานระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M2E (ภาษารัสเซียออกเสียงว่า “บุ๊ค”) ซึ่งก็ผลิตในรัสเซีย ในการสกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลแทน ส่งผลให้สามารถสกัดจรวดที่อิสราเอลยิงมาได้ถึงสองในสาม อย่างไรก็ตามสื่อ Al-Masdar News รายงานว่ากองทัพซีเรียไม่มีแผนจะเลิกใช้งาน Pantsir-S1 แต่อย่างใด แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม
ส่วนตัวผมมองว่าถึงตอนนี้สื่อจีนแค่ต้องการหาเรื่องโจมตีอาวุธรัสเซีย เพื่อโฆษณาอาวุธผลิตในจีนแล้วครับ การที่หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียใช้ Buk-M2E สกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะซีเรียมี Buk-M2E ใช้งานมานานแล้ว ไม่ได้พึ่งจัดหามาใหม่แต่อย่างใด
ยกตัวอย่างข่าวเมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียก็ใช้ Buk-M2E สกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล สามารถทำลายจรวดของอิสราเอลได้ 7 ลูก
นอกจากการสกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลแล้ว หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียก็เคยใช้ Buk-M2E สกัดจรวดร่อน Tomahawk ของสหรัฐฯและโดรนของตุรกีด้วย
เดือนเมษายน ปี 2018 สหรัฐฯกล่าวหากองทัพซีเรียว่าใช้อาวุธเคมี สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างยิงจรวดร่อนจำนวน 105 ลูกใส่เป้าหมายหลายแห่งในซีเรีย แต่ถูกสกัดได้ถึง 71 ลูก ในจำนวนนี้ 24 ลูกเป็นผลงานของ Buk-M2E ใช้จรวด 29 ลูกในการสกัด ขณะที่ Pantsir-S1 ก็สกัดจรวดร่อนของสหรัฐฯและพันธมิตรได้ถึง 23 ลูก ใช้จรวด 25 ลูกในการสกัด
https://www.rt.com/news/424103-100-missiles-launched-at-syria/
ช่วงต้นเดือนมีนาคมปีนี้ที่กองทัพซีเรียทำการรุกในจังหวัดอิดลิบ ตุรกีให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏและผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ในพื้นที่ (เดิมชื่อกลุ่ม Al-Nusra Front ปัจจุบันใช้ชื่อว่า HTS) ด้วยการใช้โดรนโจมตีทางอากาศกองทัพซีเรีย แม้จะสร้างความเสียหายให้กองทัพซีเรียได้มากจนรัสเซียต้องรีบส่งยานเกราะและยานพาหนะชุดใหม่มาเสริมให้ซีเรีย แต่โดรนของตุรกีจำนวนมากก็ถูกยิงตกเช่นกัน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่ามีโดรนของตุรกีถูกยิงตกมากถึง 40 ลำ บางส่วนเป็นผลงานของ Pantsir-S1 แต่ผลงานส่วนใหญ่เป็นของ Buk-M2E สามารถยิงโดรนของตุรกีตกถึง 20 ลำ
ส่วนตัวผมมองว่าปัญหาหลักของระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพแต่เป็นเรื่องจำนวน เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ส่งผลให้ซีเรียไม่สามารถใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลอย่าง S-300 ได้ ใช้ได้แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางเช่น Pantsir-S1, Buk-M2E ฯลฯ เท่านั้น ระบบป้องกันภัยทางอากาศเหล่านี้มีข้อจำกัดเรื่องระยะยิง ถ้าจะป้องกันน่านฟ้าของซีเรียให้แน่นหนาครอบคลุม ต้องใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนมาก อย่างน้อยที่สุดก็หลายร้อยระบบ ซึ่งซีเรียไม่มีงบประมาณพอจะจัดหามาได้ ต้องสับเปลี่ยนกำลังเท่าที่มีไปใช้ในพื้นที่ต่างๆตามลำดับความสำคัญ ก่อนหน้านี้มีการสู้รบรุนแรงที่จังหวัดอิดลิบ มีภัยคุกคามทางอากาศจากโดรนของตุรกี ก็เป็นธรรมดาที่ซีเรียต้องส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนมากไปเสริมที่อิดลิบ ส่งผลให้เครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ป้องกันกรุงดามัสกัสจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเบาบางลง (อิสราเอลก็อาศัยช่วงที่กองทัพซีเรียสู้รบติดพันที่อิดลิบโจมตีทางอากาศที่กรุงดามัสกัสหลายครั้ง) เมื่อสถานการณ์ที่อิดลิบเริ่มคลี่คลาย กองทัพซีเรียก็สามารถเคลื่อนย้ายระบบป้องกันภัยทางอากาศกลับมาที่กรุงดามัสกัสได้มากขึ้น ไม่แปลกที่จะมีการใช้งาน BuK-M2E สกัดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลมากขึ้นครับ
สวัสดี
05.05.2020


หมายเหตุ: ในกรณีที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์สั่งซื้อสินค้าจาก Amazon ผ่าน Affiliate Link ที่ปรากฏด้านล่าง ผมจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการขายด้วย โดยผู้เข้าชมเว็บไซต์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด