
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางของกองทัพเรือไทย เผยแพร่เอกสารโครงการจัดซื้อปืนเล็กยาว AK-201 ขนาด 5.56 มิลลิเมตรจากรัสเซีย สำหรับหน่วยทหารพรานนาวิกโยธินภาคตะวันออก จำนวน 500 กระบอก วงเงิน 45 ล้านบาท (ราคากระบอกละ 90,000 บาท)
ปืน AK-201 เป็นส่วนหนึ่งของปืน AK-200 series ซึ่งมีรุ่นย่อยหลายรุ่น ใช้กระสุนขนาดต่างๆกัน สำหรับส่งออกให้ลูกค้าต่างประเทศ โดยปืนเล็กยาว AK-200 และปืนเล็กสั้น AK-205 ใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร ปืนเล็กยาว AK-201 และปืนเล็กสั้น AK-202 ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO ปืนเล็กยาว AK-203 และปืนเล็กสั้น AK-204 ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร
ขอออกตัวก่อนว่าผมชอบปืนตระกูล Kalashnikov หรือ AK นะครับ แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงการนี้เท่าไหร่ เนื่องจากปัจจุบันกองทัพไทยมีปืนที่ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO หลายรุ่นมากแล้ว เฉพาะปืนที่จัดหามาใหม่ก็มี M16A4, Tavor TAR-21, IWI ACE และ SCAR-L ไหนจะปืนรุ่นเก่าที่ใช้งานอยู่เช่น M16A1, M16A2 และ HK-33 ไม่ควรเพิ่มแบบปืนขึ้นมาอีก โดยเฉพาะถ้าเป็นการจัดหาแค่ไม่กี่ร้อยกระบอกด้วย
ส่วนตัวผมอยากให้หน่วยต่างๆของกองทัพไทย และหน่วยงานอื่นๆเช่นตำรวจ อส. กรมป่าไม้ ฯลฯ ประชุมหารือกัน เลือกแบบปืนหลักขนาด 5.56 มิลลิเมตรเพียงรุ่นเดียว น่าจะมีความต้องการรวมกันหลายแสนกระบอก แล้วเจรจากับผู้ผลิตจัดหาพร้อมกันทีเดียว นอกจากจะได้ราคาต่อกระบอกถูกลงเพราะเป็นการจัดหาจำนวนมากแล้ว ยังอาจต่อรองขอถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือตั้งสายการผลิตในประเทศไทย สร้างงานให้คนไทยได้ด้วย ก่อนหน้านี้ไทยก็เคยมีประสบการณ์ผลิตปืน HK-33 หรือ ปลย.11 เองแล้ว น่าจะต่อยอดได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือจำนวนปืนที่กองทัพและหน่วยงานต่างๆต้องการใช้งานนั้นมีมาก จึงมีความคุ้มค่าในระยะยาว มากกว่ายุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งความต้องการใช้งานน้อยกว่า ประกอบกับไทยมีองค์ความรู้และงบประมาณสนับสนุนจำกัด อาจไม่คุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว
ถ้าไทยมีโครงการลักษณะดังกล่าว ส่วนตัวผมก็สนับสนุนปืน AK-201 และ AK-202 ขนาด 5.56 มิลลิเมตร ทำนองเดียวกับที่ก่อนหน้านี้อินเดียจัดหาปืน AK-203 ขนาด 7.62 มิลลิเมตรจากรัสเซียจำนวน 750,000 กระบอก ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งสายการผลิตในอินเดีย
สวัสดี
07.05.2020