ว่าด้วยปืน AK-102, AK-104 และ AK-201 ที่ไทยจัดหาจากรัสเซีย

ภาพปืนเล็กสั้น AK-102 ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO ในงาน Interpolitex 2009 (Vitaly Kuzmin/ https://www.vitalykuzmin.net/)

หลังมีข่าวกองทัพเรือไทยจะจัดหาปืน AK-201 จำนวน 500 กระบอก มูลค่าโครงการ 45 ล้านบาทให้หน่วยทหารพรานนาวิกโยธินภาคตะวันออกใช้งาน ในบทความนี้เราก็จะมาพูดถึงปืนตระกูล AK ที่ไทยใช้งานมาก่อนหน้านี้ ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นขอเริ่มด้วยการแนะนำปืนตระกูล AK ของรัสเซียในปัจจุบันอย่างคร่าวๆก่อน

อาวุธประจำกายหลักของกองทัพรัสเซียในปัจจุบันคือปืนเล็กยาว AK-74M พัฒนาต่อยอดมาจาก AK-74 เข้าประจำการในปี 1991 ใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร มาตรฐานโซเวียต แม้ขีดความสามารถของ AK-74M จะพัฒนาขึ้นจาก AK-74 พอสมควร แต่ก็มีข้อเสียอยู่คือไม่มีรางพิคาทินี่ ส่งผลให้ติดอุปกรณ์เสริมต่างๆได้จำกัด

รัสเซียนำปืน AK-74M มาพัฒนาต่อยอดให้ใช้กระสุนขนาดต่างๆกัน เพื่อส่งออกให้ลูกค้าต่างประเทศ กลายเป็นปืน AK-100 series ประกอบด้วยปืนเล็กยาว AK-101 และปืนเล็กสั้น AK-102 ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO, ปืนเล็กยาว AK-103 และปืนเล็กสั้น AK-104 ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร และปืนเล็กสั้น AK-105 ใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร ข้อเสียของ AK-100 series ก็เหมือน AK-74M คือไม่มีรางพิคาทินี่ ติดอุปกรณ์เสริมได้จำกัด ผู้ใช้ต้องแต่งปืนเพิ่มเอง

ต่อมารัสเซียเริ่มจัดหาปืนเล็กยาวรุ่นใหม่เข้าประจำการคือปืน AK-12 ใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร โดยเริ่มจัดหาให้หน่วยสเปซนาซ (คำว่าสเปซนาซแปลว่าหน่วยรบพิเศษ ไม่ใช่ชื่อหน่วย) และหน่วยพลร่มหรือ VDV ใช้งานก่อน ขณะเดียวกันรัสเซียก็พัฒนาปืน AK-200 series ขึ้นมาให้ใช้กระสุนขนาดต่างๆ เพื่อส่งออกให้ลูกค้าต่างประเทศเช่นกัน ประกอบด้วยปืนเล็กยาว AK-200 และปืนเล็กสั้น AK-205 ใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร ปืนเล็กยาว AK-201 และปืนเล็กสั้น AK-202 ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO ปืนเล็กยาว AK-203 และปืนเล็กสั้น AK-204 ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร หนึ่งในจุดเด่นของปืนตระกูลนี้ที่พัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าคือมีรางพิคาทินี่ สามารถติดอุปกรณ์เสริมต่างๆได้สะดวกและหลากหลายขึ้น

ปูพื้นเรื่องปืนตระกูล AK ของรัสเซียในปัจจุบันไปแล้ว มาต่อกันที่เรื่องปืนตระกูล AK ในประเทศไทย ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปืน AK ที่ไทยมีใช้งานอยู่ หลักๆโดยหน่วยทหารพรานนั้นไม่ใช่ AK-47 ของแท้ซึ่งหายากมาก แต่เป็น AKM และ Type-56 หรือ AK จีนแดง ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร ซึ่งยึดได้จากฝ่ายคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น ใช้งานต่อเนื่องมาหลายสิบปี จนกระทั่งเก่าและล้าสมัยแล้ว ไทยพึ่งจะมีการจัดหาปืน AK รุ่นใหม่ครั้งแรกในปี 2010 โดยกองอาสารักษาดินแดน (อส.) กระทรวงมหาดไทยจัดหาปืนเล็กสั้น AK-102 ซึ่งใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO ราคากระบอกละประมาณ 85,000 บาท

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 มีข่าวจากสื่อรัสเซียว่าไทยจัดหาปืน AK series 100 ไม่ระบุรุ่นสำหรับกำลังพล 1 – 2 กองพล ภายหลังเปิดเผยว่าเป็นปืนเล็กสั้น AK-104 สำหรับทหารพราน ซึ่งใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตรเหมือน AKM และ Type-56 ที่ใช้อยู่เดิม

ล่าสุดกองทัพเรือไทยก็มีการจัดหาปืนเล็กยาว AK-201 ซึ่งใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO จำนวน 500 กระบอก ราคากระบอกละ 90,000 บาท ให้ทหารพรานนาวิกโยธินภาคตะวันออกใช้งาน เท่ากับว่าปัจจุบันไทยมีปืน AK-100 series และ AK-200 series รุ่นต่างๆกันถึง 3 รุ่น

ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการจัดหาปืนเล็กสั้น AK-104 ให้ทหารพรานใช้งาน เพราะใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตรเหมือน AKM และ Type-56 กระสุนขนาดนี้ไม่ใช่ขนาดกระสุนหลักของกองทัพไทย แต่ในเมื่อไทยยังมีกระสุนขนาดนี้อยู่ในคลังจำนวนมาก ประกอบกับปืนที่ใช้อยู่เดิมเก่าและล้าสมัยแล้ว จึงจำเป็นต้องจัดหาของใหม่มาทดแทน เมื่อปืนที่ใช้กระสุนขนาดนี้ไม่ได้มีจำนวนความต้องการใช้งานมากนัก จึงไม่คุ้มค่าที่จะตั้งสายการผลิตในประเทศ

อย่างไรก็ตามสำหรับปืนเล็กสั้น AK-102 และปืนเล็กยาว AK-201 นั้นผมมองต่างออกไป เนื่องจากปืนสองรุ่นนี้ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO ซึ่งเป็นขนาดกระสุนหลักของไทย ปืนขนาดนี้ไทยมีความต้องการใช้งานมาก รวมความต้องการทั้งของกองทัพและหน่วยงานอื่นๆเช่นตำรวจ อส. กรมป่าไม้ ฯลฯ น่าจะได้หลายแสนกระบอก จำนวนขนาดนี้สามารถใช้เป็นข้อต่อรองเจรจากับผู้ผลิต ขอถ่ายทอดเทคโนโลยี มาตั้งสายการผลิตในประเทศไทยได้อย่างคุ้มค่า แต่ที่ผ่านมาไทยกลับจัดหาปืนที่ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 NATO มิลลิเมตรรุ่นต่างๆแยกกันหลายรุ่นมาก จำนวนที่จัดหาส่วนใหญ่อยู่หลักร้อยหรือหลักพันกระบอกต่อครั้งเท่านั้น นอกจากจะส่งผลให้ราคาต่อกระบอกสูงแล้ว ยังมีผลให้ขาดอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตด้วย ส่วนตัวผมอยากให้กองทัพไทยและหน่วยงานอื่นๆร่วมกันเลือกแบบปืนขนาด 5.56 x 45 NATO จัดหาร่วมกันทีเดียว ต่อรองขอถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งสายการผลิตในประเทศไทย ต่อยอดจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยผลิตปืน HK-33 หรือ ปลย.11 มากกว่า

สวัสดี

08.05.2020

แสดงความคิดเห็น