ปืนใหญ่ vs จรวดหลายลำกล้อง : จุดเด่น จุดด้อย

ภาพจรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad ของสหภาพโซเวียต ใช้จรวดขนาด 122 มิลลิเมตร 40 ท่อยิง ติดตั้งบนรถบรรทุก Ural-375D (DoD photo)

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงจุดเด่น จุดด้อยของปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องเปรียบเทียบกัน จรวดหลายลำกล้องมีการใช้งานแพร่หลายอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวอย่างจรวดหลายลำกล้องที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นก็คือ BM-13 Katyusha (คาตูช่า) ของสหภาพโซเวียตและ Nebelwerfer ของเยอรมนี สำหรับคนไทยในปัจจุบันก็คงคุ้นเคยกับอาวุธประเภทนี้ดีจากสมัยที่เกิดการปะทะกับกัมพูชาเมื่อเกือบสิบปีก่อน (เวลาผ่านไปเร็วมาก) แล้วฝั่งกัมพูชาใช้จรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad ยิงเข้ามาในฝั่งไทย หลังเหตุการณ์นั้นไม่นาน ฝั่งไทยก็มีการเปิดตัวจรวดหลายลำกล้อง DTI-1 เช่นกัน วันนี้ผมเลยจะพูดถึงขีดความสามารถของจรวดหลายลำกล้องอีกครั้งหนึ่ง เปรียบเทียบกับปืนใหญ่

เนื่องจากจรวดหลายลำกล้องในปัจจุบันพัฒนาขึ้นจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาก ผมเลยขอแบ่งจรวดหลายลำกล้องออกเป็นสองประเภทโดยใช้ระยะยิงเป็นเกณฑ์ก่อน

ประเภทที่หนึ่งคือจรวดหลายลำกล้องที่มีระยะยิงใกล้เคียงกับปืนใหญ่ ไม่เกิน 40 – 50 กิโลเมตร เช่น BM-21 และ BM-27 Uragan ของโซเวียต, Tornado-G ของรัสเซีย, RM-70 ของสาธารณรัฐเช็ก, Type-81, Type-90B และ SR-4 ของจีน, DTI-2 ของไทย เป็นต้น

ประเภทที่สองคือจรวดหลายลำกล้องที่มีระยะยิงไกลกว่าปืนใหญ่มาก ตั้งแต่ประมาณ 100 กิโลเมตรขึ้นไป พอๆกับขีปนาวุธพิสัยใกล้ เช่น BM-30 Smerch ของโซเวียต, Tornado-S ของรัสเซีย, PHL-03 ของจีน, M270 MLRS และ M142 HIMARS ของสหรัฐฯ, Polonez ของเบลารุส, DTI-1 และ DTI-1G ของไทย เป็นต้น

ในบทความนี้ผมจะเปรียบเทียบปืนใหญ่กับจรวดหลายลำกล้องประเภทแรกครับ

จุดเด่นของปืนใหญ่คือความแม่นยำ เล็งจุดไหน กระสุนก็ตกตรงนั้น ปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่การหาตำแหน่งของข้าศึกให้เจอ จะใช้ผู้ตรวจการณ์หน้า โดรนตรวจการณ์ เรดาร์จับวิถีปืนใหญ่ หรือดาวเทียมก็แล้วแต่ ขอแค่หาข้าศึกเจอแล้วติดตามตำแหน่งได้ตลอด อยู่ในระยะยิง ก็ยิงเข้าเป้าแบบแม่นยำเหมือนจับวางได้แน่นอน

จุดด้อยของปืนใหญ่คืออัตราการยิงครับ เนื่องจากยิงได้ทีละนัด ปืนใหญ่ส่วนใหญ่จึงมีอัตราการยิงประมาณ 4 – 6 นัดต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งนี่คืออัตราการยิงแบบต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติกว่าจะปรับพิกัดการยิง คำนวณตำแหน่งเป้าหมายต่างๆเสร็จ นาทีหนึ่งอาจได้ยิงแค่ 1 – 2 นัดเท่านั้น ปืนใหญ่จึงไม่เหมาะจะใช้ยิงปูพรม ถล่มพื้นที่บริเวณกว้าง ยกเว้นมีปืนใหญ่จำนวนมากร่วมกันยิง แต่การรวมกำลังจำนวนมากไว้ในพื้นที่เดียว ถ้าถูกข้าศึกตอบโต้ ก็มีโอกาสสูญเสียมากเช่นกัน

มาต่อกันที่จรวดหลายลำกล้อง ย้ำอีกครั้งว่าจรวดหลายลำกล้องในที่นี้หมายถึงจรวดหลายลำกล้องประเภทเดียวกับ BM-21 หรือที่หลายคนมักเรียกรวมๆกันว่า Katyusha ตามชื่อจรวดหลายลำกล้องของโซเวียตสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

จุดเด่นของจรวดหลายลำกล้องคืออัตราการยิง สามารถยิงจรวดจำนวนมากออกไปในเวลาไม่ถึง 1 นาที ยกตัวอย่างกรณีของ BM-21 สามารถยิงจรวดขนาด 122 มิลลิเมตร 40 ลูกออกไปในเวลาเพียง 20 วินาทีเท่านั้น (วินาทีละ 2 ลูก) นอกจากนี้ BM-21 มักจะทำการยิงในระดับกองร้อยหรือกองพันพร้อมกัน (6 – 18 คัน) สามารถยิงจรวดหลายร้อยลูกออกมาในเวลาไม่กี่วินาที ถล่มพื้นที่บริเวณกว้าง จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ยิงปูพรม

เมื่อการยิงปูพรมคือจุดเด่นของจรวดหลายลำกล้อง เรื่องความแม่นยำก็คือจุดด้อยของจรวดหลายลำกล้องครับ ซึ่งชดเชยได้ด้วยจำนวนจรวดที่ยิงออกไป ปัญหาคือประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีงบประมาณจำกัด มักจะไม่สามารถสำรองจรวดจำนวนมากไว้ในคลังได้ ส่งผลให้นอกจากไม่สามารถใช้งานจุดเด่นของจรวดหลายลำกล้องได้เต็มที่แล้ว ยังเปิดเผยช่องโหว่จุดด้อยออกมาด้วย เช่นในกรณีของกัมพูชา มักใช้ BM-21 ทำการยิงแยกกัน ครั้งละไม่กี่ลูก จรวดจึงตกห่างจากกันเป็นวงกว้างสะเปะสะปะไปหมด

จุดด้อยอีกข้อของจรวดหลายลำกล้องคือเวลาที่ใช้บรรจุจรวด ถ้าเป็นระบบแมนวล บรรจุจรวดด้วยมือ กว่าจะบรรจุจรวด BM-21 ครบ 40 นัด อาจใช้เวลาถึงเกือบ 10 นาที จรวดหลายลำกล้องจึงเหมาะกับการยิงแล้วหนี กล่าวคือเมื่อยิงจรวดออกไปแล้วต้องรีบย้ายที่ตั้ง ก่อนจะบรรจุจรวดใหม่ ไม่เหมาะสำหรับการตั้งยิง ดวลลูกยาวกับข้าศึกอยู่กับที่ เพราะมีโอกาสโดนยิงสวนสูง แม้จรวดหลายลำกล้องหลายรุ่นเช่น RM-70 และ Type-90B จะมีฝักจรวดสำรอง สามารถบรรจุจรวดชุดใหม่ได้ในเวลารวดเร็ว แต่ก็ไม่เหมาะกับการใช้ดวลลูกยาวอยู่ดี เพราะขาดความแม่นยำ

กล่าวโดยสรุป ปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องถือได้ว่ามีจุดเด่น จุดด้อยเป็นขั้วตรงข้ามกัน ใช้ในภารกิจคนละประเภท ไม่สามารถทดแทนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรมีใช้งานทั้งสองอย่าง แต่จะเน้นใช้งานแบบไหนมากกว่ากันก็ขึ้นกับหลักนิยมของกองทัพแต่ละประเทศ

สวัสดี

10.05.2020

แสดงความคิดเห็น