เมื่อรัสเซียไม่สามารถใช้รถถังรับมือการซุ่มโจมตีของกองกำลังเชเชนในเมืองได้ เนื่องจากปืนใหญ่รถถังมีมุมก้ม มุมเงยจำกัด ไม่สามารถยิงตอบโต้กองกำลังเชเชนที่ซุ่มโจมตีจากบนอาคารสูงและชั้นใต้ดินได้ รัสเซียจึงต้องเปลี่ยนไปใช้ยานเกราะประเภทอื่นแทน ได้แก่รถรบทหารราบ BMP-2 ซึ่งติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร, ปืนต่อต้านอากาศยานอัตตาจร ZSU-23-4 Shilka ติดปืนต่อต้านอากาศยานขนาด 23 มิลลิเมตร 4 ลำกล้อง และปืนต่อต้านอากาศยานอัตตาจร 2K22 Tunguska (รุ่นก่อนหน้า Pantsir-S1) ซึ่งติดอาวุธปืนต่อต้านอากาศยานขนาด 30 มิลลิเมตร 2 กระบอก ปืนของยานเกราะเหล่านี้มีมุมเงยและอัตราการยิงสูง สามารถยิงกดหัวกองกำลังเชเชนที่ซุ่มอยู่บนอาคารสูงได้
อย่างไรก็ตามยานเกราะเหล่านี้มีจุดอ่อนคือเกราะบาง รถรบทหารราบ BMP-2 ออกแบบมาเน้นขีดความสามารถด้านอำนาจการยิงและความคล่องตัวในการเคลื่อนที่เป็นหลัก มีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก จึงต้องแลกด้วยการมีเกราะบาง เพื่อให้น้ำหนักเบา เกราะของ BMP-2 สามารถป้องกันได้เพียงกระสุนปืนเล็กเท่านั้น ขณะที่ปืนต่อต้านอากาศยานอัตตาจร Shilka และ Tunguska ก็ไม่ได้ออกแบบมาสู้รบประจัญบานในแนวหน้าเช่นกัน
จากข้อจำกัดของยานเกราะที่รัสเซียมีใช้งานอยู่ ส่งผลให้เกิดความจำเป็นต้องออกแบบยานเกราะประเภทใหม่ ซึ่งมีอัตราการยิงสูง ใช้ยิงกดหัวทหารราบข้าศึกได้ ขณะเดียวกันก็มีเกราะป้องกันตัวในระดับเดียวกับรถถังหลัก กลายเป็นรถรบสนับสนุนรถถัง BMPT Terminator เกิดจากการนำตัวรถของรถถัง T-72 มาติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร 2 ลำกล้อง, เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 30 มิลลิเมตร 2 กระบอก และจรวดต่อต้านรถถัง Ataka-T จำนวน 4 ท่อยิง ใช้พลประจำรถ 5 นาย อย่างไรก็ตามในรุ่นถัดมาคือ BMPT-72 Terminator 2 ได้ตัดเครื่องยิงลูกระเบิดออก เพื่อลดจำนวนพลประจำรถเหลือ 3 นาย
ปัจจุบัน BMPT มีใช้งานใน 3 ประเทศคือคาซัคสถานจัดหา BMPT เป็นประเทศแรกเมื่อปี 2010 จำนวน 10 คัน ประเทศที่สองคือแอลจีเรียจัดหา BMPT-72 จำนวนมากถึง 300 คันในปี 2016 เพื่อใช้งานคู่กับรถถัง T-90SA ส่วนประเทศผู้ผลิตคือรัสเซียพึ่งจะตัดสินใจจัดหา BMPT ในปี 2017 เริ่มรับมอบในปี 2018 สาเหตุเพราะเดิมรัสเซียตั้งใจจะรอรถรบทหารราบ T-15 Armata เข้าประจำการ เนื่องจาก T-15 สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์กว่า อำนาจการยิงใกล้เคียงกัน เกราะหนากว่า เนื่องจากใช้ตัวรถเดียวกับรถถัง T-14 Armata แถมยังบรรทุกทหารได้ด้วย แต่เมื่อโครงการ Armata ติดโรคเลื่อน ประกอบกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ ส่งผลให้รัสเซียจำเป็นต้องยอมจัดหา BMPT ในที่สุด โดย BMPT ของกองทัพรัสเซียเป็นแบบลูกผสม กล่าวคือใช้ตัวรถแบบเดียวกับ BMPT รุ่นแรกติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 30 มิลลิเมตร 2 กระบอกด้วย แต่ใช้ป้อมปืนของ BMPT-72 ซึ่งออกแบบทันสมัยกว่า
สวัสดี
10.05.2020

