ข้อดี-ข้อเสียของการใช้แพลทฟอร์มจรวดหลายลำกล้องยิงขีปนาวุธ

ภาพขีปนาวุธ MGM-140 ATACMS ถูกยิงออกจากแพลทฟอร์มจรวดหลายลำกล้อง M270 MLRS เมื่อปี 2006 (https://sill-www.army.mil/)

ปัจจุบันอาวุธทางยุทธวิธีบนบกของรัสเซียที่มีระยะยิงไกลที่สุด คือจรวดหลายลำกล้อง BM-30 Smerch หรือ Tornado-S มีระยะยิง 120 กิโลเมตร และขีปนาวุธ Iskander-M มีระยะยิง 500 กิโลเมตร ขณะที่สหรัฐฯมีจรวดหลายลำกล้อง M270 MLRS และ M142 HIMARS ซึ่งนอกจากจรวดขนาด 227 มิลลิเมตร ระยะยิง 70 กิโลเมตรแล้วก็สามารถใช้ยิงขีปนาวุธ MGM-140 ATACMS ระยะยิง 300 กิโลเมตรได้ด้วย จะเห็นได้ว่ารัสเซียและสหรัฐฯมีหลักนิยมต่างกัน รัสเซียออกแบบจรวดหลายลำกล้องและขีปนาวุธพิสัยใกล้แยกออกจากกัน ในขณะที่สหรัฐฯรวมจรวดหลายลำกล้องและขีปนาวุธพิสัยใกล้ไว้ในแพลทฟอร์มเดียวกัน

ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กันว่าการออกแบบแพลทฟอร์มจรวดหลายลำกล้องและขีปนาวุธพิสัยใกล้รวมไว้ด้วยกันแบบสหรัฐฯ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

ข้อดีแน่นอนว่าคือประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะผลิตแพลทฟอร์มเดียวใช้อาวุธได้หลายอย่าง นอกจากนี้ยังสะดวกในการใช้งาน

สำหรับข้อเสีย ข้อแรกก็คือมีความเสี่ยงสูงถ้าถูกทำลาย เพราะเท่ากับว่าอาวุธจะหายไปถึงสองอย่างในคราวเดียว ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือกรณีของรัสเซีย สมมติว่าจรวดหลายลำกล้อง BM-30 ถูกทำลาย ก็ยังมีขีปนาวุธ Iskander-M ให้ใช้งาน หรือกลับกัน แต่ในกรณีของสหรัฐฯ ถ้าจรวดหลายลำกล้อง M270 หรือ HIMARS ถูกทำลาย ก็เท่ากับสูญเสียแพลทฟอร์มที่ใช้ยิงขีปนาวุธ ATACMS ไปด้วย

ข้อเสียข้อที่สองคือการป้องปรามฝ่ายตรงข้ามด้วยจรวดหลายลำกล้อง M270 หรือ HIMARS มีโอกาสเพิ่มความตึงเครียด มากกว่าจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดเพื่อนำไปสู่โต๊ะเจรจาครับ ยกตัวอย่างคือสมมติเกิดความตึงเครียดระหว่างจีน-รัสเซีย แล้วจีนวางกำลังจรวดหลายลำกล้อง PHL-03 (BM-30 made in China) รัสเซียก็สามารถส่งแค่จรวดหลายลำกล้อง BM-30 ไปประจัญหน้ากัน เท่านี้กำลังรบก็สมน้ำสมเนื้อกันแล้ว แต่ถ้าเป็นสหรัฐฯวางกำลังจรวดหลายลำกล้อง M270 หรือ HIMARS ฝั่งรัสเซียจะไม่จบแค่ BM-30 ครับ เพราะจรวดหลายลำกล้องของสหรัฐฯมีอำนาจการยิงสูงกว่า สามารถยิงขีปนาวุธ ATACMS ได้ด้วย รัสเซียต้องใช้ขีปนาวุธ Iskander-M ถึงจะสมน้ำสมเนื้อกัน ซึ่งก็เท่ากับยกระดับความตึงเครียดขึ้นไปอีก

สวัสดี

13.05.2020

แสดงความคิดเห็น