สหรัฐฯเสนอย้ายอาวุธนิวเคลียร์ไปโปแลนด์ หลังมีกระแสต่อต้านในเยอรมนี

ภาพระเบิดนิวเคลียร์ B-61 ของสหรัฐฯ (SSGT Phil Schmitten/ United States Department of Defense)

ช่วงนี้กำลังมีกระแสในประเทศเยอรมนี นำโดยหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนีหรือ SPD ให้สหรัฐฯย้ายระเบิดนิวเคลียร์ B-61 ประมาณ 20 ลูกที่เก็บไว้ที่ฐานทัพในเยอรมนีตามข้อตกลงในการแชร์อาวุธนิวเคลียร์ของ NATO (Nuclear Sharing) ออกไป แต่รัฐมนตรีกลาโหมและพรรครัฐบาลคือ พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนีหรือ CDU ไม่เห็นด้วย บอกว่าเยอรมนีจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นอำนาจต่อรอง

นายเจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ก็ออกมาสนับสนุนให้เยอรมนีเก็บอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในประเทศ จะได้ยังมีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายด้านยุทธศาสตร์ของ NATO ต่อไปได้ นายสโตลเตนเบิร์กยังอ้างภัยคุกคามจากรัสเซีย ที่วางกำลังขีปนาวุธ Iskander-M ระยะยิง 500 กิโลเมตรติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ไว้ในคาลินินกราดมีระยะยิงถึงกรุงเบอร์ลินด้วย (แต่ไม่ยอมบอกว่าการวางกำลังขีปนาวุธของรัสเซีย เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ Aegis Ashore ในโปแลนด์)

ด้านทูตสหรัฐฯประจำเยอรมนีก็ออกมาวิจารณ์เยอรมนีว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของ NATO ไม่ยอมรับผิดชอบบทบาทในนโยบายถ่วงดุลนิวเคลียร์ ทูตสหรัฐฯอ้างภัยคุกคามจากรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือว่าอาวุธนิวเคลียร์ยังมีความจำเป็น บอกว่าแม้แต่โปแลนด์และสามรัฐบอลติกก็เข้าใจข้อนี้ดี

เมื่อมีการเอ่ยชื่อโปแลนด์ขึ้นมา ล่าสุดทูตสหรัฐฯประจำโปแลนด์เลยมาร่วมวงดีเบตด้วย เสนอว่าถ้าเยอรมนีต้องการลดขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ ไม่ต้องการเก็บอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯไว้ในประเทศ ทำให้ NATO อ่อนแอลง ก็ให้ย้ายอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวไปที่โปแลนด์แทน โปแลนด์น่าจะยินดีรับอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯไว้ในประเทศ

ทางการโปแลนด์ยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ แต่หลายฝ่ายกังวลว่าถ้าสหรัฐฯย้ายอาวุธนิวเคลียร์จากเยอรมนีไปโปแลนด์ ซึ่งอยู่ใกล้รัสเซียมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียด ทำนองเดียวกับวิกฤตการณ์คิวบา

Nuclear Sharing เป็นข้อตกลงที่จะให้สมาชิก NATO ที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ มีส่วนร่วมในการเก็บรักษาและใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ของสมาชิกที่มี (สหรัฐฯ) เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้านยุทธศาสตร์ของ NATO ปัจจุบันสมาชิก NATO ที่ยังมีอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯเก็บไว้ในประเทศประกอบด้วยเยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และตุรกี มีระเบิดนิวเคลียร์ B-61 เก็บไว้รวมกันประมาณ 150 ลูก สำหรับระเบิดนิวเคลียร์ B-61 นั้นเป็นระเบิดที่ใช้ทิ้งจากเครื่องบิน เข้าประจำการตั้งแต่ช่วงยุค 60 แม้จะมีการปรับปรุงใหม่หลายครั้ง แต่ก็ถือว่าเก่ามากแล้ว ไม่ถือเป็นภัยคุกคามมากเท่าขีปนาวุธรุ่นใหม่ๆ ที่ผ่านมาการวางกำลังระเบิดนิวเคลียร์ B-61 ในยุโรปตะวันตกจึงไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดมากนัก และประเทศที่ยังมีระเบิดรุ่นนี้เก็บไว้อยู่ก็ล้วนเป็นสมาชิกดั้งเดิมของ NATO ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น แต่ถ้ามีการย้ายระเบิดรุ่นนี้ออกจากเยอรมนีไปโปแลนด์จะส่งผลกระทบสองข้อ

ผลกระทบข้อแรกคือเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของ NATO ในทางการเมือง โปแลนด์ที่พึ่งเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ NATO ช่วงหลังสงครามเย็น ไม่สามารถทดแทนเยอรมนีซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งและเป็นหนึ่งในกำลังหลักของ NATO สมัยสงครามเย็นได้

ผลกระทบข้อสองคือเรื่องความสัมพันธ์กับรัสเซีย เนื่องจากโปแลนด์ไม่ได้มีชายแดนติดกับประเทศเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียในองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมหรือ CSTO เท่านั้น แต่ยังมีชายแดนติดกับรัสเซียโดยตรงทางแคว้นคาลินินกราดด้วย การมีอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯเก็บไว้ในโปแลนด์ แม้จะเป็นระเบิดรุ่นเก่า ย่อมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์คิวบา 2.0 แบบที่หลายฝ่ายกังวล

สวัสดี

17.05.2020

อ้างอิง

https://www.politico.com/news/2020/05/03/germany-trump-american-nuclear-weapons-232850

https://www.defensenews.com/global/europe/2020/05/11/nato-chief-backs-german-vow-to-keep-war-ready-us-nukes/

https://www.dw.com/en/us-ambassador-accuses-germany-of-undermining-nato-on-nuclear/a-53432929

https://sputniknews.com/europe/202005161079326518-us-mulls-redeploying-its-nukes-from-germany-to-poland-closer-to-russias-borders/

https://www.rt.com/news/488836-us-nukes-poland-germany/

คลิปเครื่องบินขับไล่ F-15 ของสหรัฐฯทดสอบทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ B-61-12 ที่สนามทดสอบรัฐเนวาดา ปี 2015

แสดงความคิดเห็น