สนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ฉบับสุดท้ายจะได้ไปต่อหรือไม่ ?

ภาพรถฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีป RS-24 Yars ของรัสเซียระหว่างการซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะ วันที่ 9 เมษายน ปี 2014 (Vitaly Kuzmin)

ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐฯและสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) ได้ทำสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ที่สำคัญจำนวน 3 ฉบับคือ

1.การเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Limitation Talks หรือ SALT) ซึ่งต่อมากลายเป็นข้อตกลง SALT I และ SALT II ก่อนจะหยุดชะงักไปช่วงหนึ่งเมื่อโซเวียตเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถาน จากนั้นก็มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งกลายเป็นสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Reduction Treaties หรือ START) ประกอบด้วย START I, START II และฉบับล่าสุดคือ New START ลงนามเมื่อวันที่ 8 เมษายน ปี 2010 สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯและดมิตรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ให้สัตยาบันในปี 2011 และมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2021 ถ้าคู่สัญญาต้องการก็สามารถต่ออายุได้อีก 5 ปีถึงปี 2026

2.สนธิสัญญาระบบป้องกันขีปนาวุธ (Anti-Ballistic Missile Treaty หรือ ABM Treaty) เป็นสนธิสัญญาจำกัดจำนวนระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯและโซเวียต ลงนามเมื่อปี 1972 มีผลบังคับใช้อยู่ 30 ปี ก่อนสหรัฐฯจะถอนตัวออกไปในปี 2002 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อ้างภัยคุกคามจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ

3.สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty หรือ INF Treaty) ลงนามเมื่อปี 1987 สมัยผู้นำโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน หลังเกิดความตึงเครียดเมื่อโซเวียตและสหรัฐฯติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง RSD-10 Pioneer (SS-20 Saber) และ Pershing II ในยุโรปตามลำดับ สนธิสัญญา INF ห้ามไม่ให้สหรัฐฯและโซเวียต (รัสเซีย) ครอบครองขีปนาวุธและจรวดร่อนที่มีฐานยิงบนบกระยะยิงระหว่าง 500 – 5,500 กิโลเมตร ปัญหาของสนธิสัญญานี้คือช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประเทศที่พัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางออกมามากขึ้นเช่นจีน อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน เกาหลีเหนือ ฯลฯ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสนธิสัญญา INF แต่อย่างใด สหรัฐฯสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งมีนโยบายต่อต้านจีน จึงประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญานี้ในปี 2018 – 2019 ใช้ข้ออ้างว่ารัสเซียละเมิดสัญญาก่อนโดยการพัฒนาขีปนาวุธ 9M729 Novator ซึ่งมีระยะยิงไกลกว่า 500 กิโลเมตร เกินกว่าที่สนธิสัญญาจำกัดไว้ แต่รัสเซียปฏิเสธ

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีเพียงสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธสาสตร์ New START เท่านั้นที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่สนธิสัญญาดังกล่าวกำลังจะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าแล้ว รัสเซียต้องการต่ออายุสัญญา แต่สหรัฐฯมีเงื่อนไขว่าต้องให้จีนเข้าร่วมด้วย ปัญหาอยู่ที่โดยภาพรวมจีนมีอาวุธทางยุทธศาสตร์ รวมถึงจำนวนหัวรบนิวเคลียร์น้อยกว่าสหรัฐฯและรัสเซียมาก จีนจึงมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วมสนธิสัญญา ล่าสุดไม่กี่วันก่อนจีนก็ยังปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญา New START

https://tass.com/world/1156791

https://www.aa.com.tr/en/americas/us-tells-russia-further-arms-talks-must-include-china/1809112

เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯกำลังใช้สนธิสัญญา New START เป็นตัวประกัน กดดันให้จีนเข้าร่วมการเจรจา คล้ายกรณีสนธิสัญญา INF อุปสรรคก็คล้ายๆกันครับคือจีนมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วม เพราะปัจจุบันจีนก็มีหัวรบนิวเคลียร์น้อยกว่าสหรัฐฯและรัสเซียมากอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกข้อที่ยังไม่มีใครกล่าวถึงคือประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน แต่ยังมีอังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีเหนือ อิสราเอล ฯลฯ หลายประเทศมีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ใกล้เคียงกับจีน ดังนั้นถ้าสหรัฐฯต้องการให้จีนเข้าร่วมสนธิสัญญา New START ก็ดำเนินการอย่างน้อย 2 เรื่องคือ

1.ลดเพดานข้อจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์และอาวุธทางยุทธศาสตร์ในสนธิสัญญา New START ลงมาอีก ไม่ให้ทิ้งห่างจากจีนมากนัก ปัญหาอยู่ที่สหรัฐฯและรัสเซียจะยอมลดอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองได้ขนาดไหน

2.ดึงประเทศอื่นๆที่มีหัวรบนิวเคลียร์และอาวุธทางยุทธศาสตร์มาเข้าร่วมด้วย ยิ่งเพิ่มความยากในการเจรจามากขึ้นไปอีก

สรุปคือตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจีนและประเทศอื่นๆที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะยอมเข้าร่วมการเจรจาต่ออายุสนธิสัญญา New START แต่อย่างใด ถ้าสหรัฐฯยังยืนกรานใช้สนธิสัญญานี้เป็นตัวประกันต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าข้อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯและโซเวียต (รัสเซีย) มรดกจากสมัยสงครามเย็นจะสูญพันธุ์ในปีหน้า นำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

สวัสดี

18.05.2020

แสดงความคิดเห็น