
(Bundesarchiv, Bild 101I-300-1865-06 / Speck / CC-BY-SA 3.0)
หนึ่งในความเชื่อแพร่หลายเกี่ยวกับการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรในนอร์มังดี ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส วันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ.1944 หรือวันดี-เดย์ (D-Day) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็คือถ้าวันนั้นกองทัพเยอรมันส่งหน่วยยานเกราะหรือพันเซอร์ (Panzer) เข้าโจมตีตอบโต้ได้เร็วพอ ก็จะสามารถผลักดันทหารอเมริกัน อังกฤษ และแคนาดาที่ยกพลขึ้นบกมากลับลงทะเลไปได้ ปัญหาคือเยอรมันไม่รู้มาก่อนว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่จุดไหน ประกอบกับความซับซ้อนของสายการบังคับบัญชา ซึ่งจอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ไม่สามารถสั่งการทหารเยอรมันทุกหน่วยได้อย่างอิสระ ส่งผลให้มีหน่วยยานเกราะของเยอรมันเพียงกองพลเดียวคือกองพลพันเซอร์ที่ 21 (21st Panzer Division) ที่วางกำลังอยู่ใกล้หาดนอร์มังดีมากพอจะทำการรุกตอบโต้ในวันดี-เดย์ กองพลพันเซอร์ที่ 21 ตีโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างรุนแรง บางจุดสามารถรุกฝ่าเข้าไปถึงชายหาด ก่อนจะต้องถอยทัพกลับเพราะขาดกำลังสนับสนุน กองพลพันเซอร์ที่ 21 สูญเสียยานเกราะไปถึง 70 คันจากทั้งหมด 124 คันในวันดี-เดย์
เมื่อพูดถึงกองพลพันเซอร์ที่ 21 หลายคนอาจนึกถึงหน่วยกองทัพน้อยแอฟริกาหรือแอฟริกาคอร์ป (Afrika Korps) ใต้บังคับบัญชาของรอมเมล เจ้าของฉายาจิ้งจอกทะเลทราย (Desert Fox) พลางสงสัยว่ากองพลพันเซอร์ที่ 21 ในสมรภูมิแอฟริกาเหนือกับกองพลพันเซอร์ที่ 21 ในสมรภูมินอร์มังดีเป็นหน่วยเดียวกันหรือไม่ ? คำตอบคือ “ใช่และไม่ใช่” ครับ

(Bundesarchiv, Bild 146-1977-018-13A / Otto / CC-BY-SA 3.0)
เนื่องจากก่อนหน้านั้นกองพลพันเซอร์ที่ 21 ในแอฟริกาเหนือ ถูกปิดล้อมและต้องยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศตูนิเซีย ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1943 มองมุมนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองกองพลเป็นคนละหน่วยกัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากกองพลพันเซอร์ที่ 21 มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมรภูมิแอฟริกาเหนือ เยอรมนีจึงต้องการจัดตั้งหน่วยใหม่ที่ใช้ชื่อเดียวกัน โดยนำกำลังพลที่เหลือจากกองพลพันเซอร์ที่ 21 ในแอฟริกาเหนือ ทั้งทหารที่อพยพกลับมาก่อนจะถูกปิดล้อม ทหารที่อยู่ระหว่างลาพัก และทหารที่ได้รับบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ รวมกันไม่ถึง 1,000 นาย มาเป็นโครงในการจัดตั้งหน่วยใหม่ มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองก็อง (Caen) ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส ใกล้หาดนอร์มังดี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1943 อีกมุมหนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองกองพลคือหน่วยเดียวกัน
กองพลพันเซอร์ที่ 21 ที่จัดตั้งขึ้นใหม่อยู่ใต้บังตับบัญชาของนายพลเอ็ดการ์ ฟอยช์ติงเกอร์ (Edgar Feuchtinger) ซึ่งได้ดีเพราะเส้นสาย ไม่ได้มีความสามารถดีเด่นอะไร แต่ฟอยช์ติงเกอร์ก็รู้ตัวดีจึงอาศัยเส้นสายดึงตัวนายทหารที่เก่งมาก 2 นายมาอยู่ใต้บังคับบัญชา คนแรกคือพันเอกฮันส์ ฟอน ลุค (Hans von Luck) อดีตนายทหารในกองพลพันเซอร์ที่ 7 (7th Panzer Division) ฉายากองพลผี (Ghost Division) ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของรอมเมลตอนที่เยอรมันบุกฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1940
นายทหารอีกนายคือพันเอกอัลเฟรด เบ็กเคอร์ (Alfred Becker) ซึ่งมีความชำนาญในการดัดแปลงยานเกราะเป็นปืนใหญ่อัตตาจร เนื่องจากขณะนั้นเยอรมันมีปัญหาขาดแคลนยานเกราะ รถถังรุ่นใหม่ที่ผลิตออกมาเช่นรถถังทีเกอร์ (Tiger I) และพันเธอร์ (Panther) ล้วนแต่ถูกส่งไปแนวรบด้านตะวันออกกับสหภาพโซเวียตเป็นหลัก ส่งผลให้กองพลพันเซอร์ที่ 21 ที่จัดตั้งขึ้นใหม่มีเพียงรถถังรุ่นเก่าเช่นพันเซอร์ทรี (Panzer III) พันเซอร์โฟร์ (Panzer IV) และรถถังที่เคยยึดได้จากอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นรถถังโซมัว (Somua) และฮอทชคีส (Hotchkiss) เท่านั้น แต่ด้วยฝีมือของเบ็กเคอร์จึงสามารถดัดแปลงรถถังรุ่นเก่าเหล่านี้และรถกึ่งสายพานเป็นปืนใหญ่อัตตาจร ติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรและปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตรเรียกว่าเกสชุตส์วาเก็น (Geschützwagen) ได้ นอกจากจะเพิ่มอำนาจการยิงให้หน่วยแล้ว ยังช่วยให้กองพลพันเซอร์ที่ 21 มียานพาหนะมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากยานเกราะที่ดัดแปลงขึ้นมานั้นมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก จึงได้ฉายาว่าคณะละครสัตว์ของรอมเมล (Rommel’s Zircus)

(Bundesarchiv, Bild 101I-300-1863-31 / Speck / CC BY-SA 3.0 DE)

(Bundesarchiv, Bild 101I-300-1865-05 / Speck / CC-BY-SA 3.0)
คืนวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1944 เมื่อพลร่มอเมริกันและอังกฤษเริ่มกระโดดร่มลงหลังแนวรบของทหารเยอรมัน กองพลพันเซอร์ที่ 21 ไม่ได้เคลื่อนกำลังในทันที เนื่องจากนายพลฟอยช์ติงเกอร์ไม่ได้อยู่ในที่ตั้ง (เช่นเดียวกับนายทหารเยอรมันหลายนายรวมถึงจอมพลรอมเมลด้วย) กว่าจะกลับมาก็ปาไปช่วงสายของวันที่ 6 มิถุนายนหรือวันดี-เดย์ ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยกพลขึ้นบกมาแล้ว ปัญหาถัดมาคือนายพลฟอยช์ติงเกอร์ไม่ได้ประสานงานกับทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ สั่งให้กองพลพันเซอร์ที่ 21 เข้าตีหน่วยพลร่มอังกฤษ แทนที่จะบุกไปที่ชายหาด แถมปฏิบัติการยังเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ กรมยานเกราะในสังกัดหน่วยหนึ่งตัดสินใจรุกไปที่ชายหาดด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ต้องถอนกำลังกลับ เพราะไม่มีกำลังสนับสนุนและมีความเสี่ยงจะถูกพลร่มตัดเส้นทางถอย สูญเสียโอกาสที่จะผลักดันฝ่ายสัมพันธมิตรลงทะเลไปอย่างน่าเสียดาย

หลังวันดี-เดย์ กองพลพันเซอร์ที่ 21 ร่วมมือกับหน่วยยานเกราะอื่นๆของเยอรมันที่ทยอยเดินทางมาถึง ป้องกันเมืองก็องซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจากการรุกของกองทัพอังกฤษได้นานถึง 2 เดือน ก่อนจะถูกผลักดันให้ถอยทัพ และถูกล้อมในวงล้อมฟาแลส (Falaise Pocket) สูญเสียกำลังพลและยานเกราะไปเกือบทั้งหมด เหลือกำลังพลเพียง 300 นายเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเยอรมันก็ยังทำการฟื้นฟูกองพลพันเซอร์ที่ 21 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง มีส่วนร่วมในการตีโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ป่าอาร์เดนในเบลเยียมหรือ Battle of the Bulge ก่อนจะถูกผลักดันให้ถอยทัพอีกครั้ง กองพลพันเซอร์ที่ 21 ถูกส่งไปแนวรบด้านตะวันออก ก่อนจะยอมจำนนต่อกองทัพโซเวียตในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1945
สวัสดี
19.05.2020