
ที่ผ่านมาเวลาคนส่วนใหญ่และสื่อพูดถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 และ S-400 ของรัสเซียรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลรุ่นอื่นๆเช่น Patriot ของสหรัฐฯและ HQ-9 หรือ FD-2000 ของจีน ก็มักจะกล่าวว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศประเภทนี้ดีที่สุดในโลก ถ้าพิจารณาจากขีดความสามารถว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลมีระยะตรวจจับเรดาร์และระยะยิงของจรวดไกลที่สุด เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศก็ถือว่าสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามระบบป้องกันภัยทางอากาศประเภทนี้ถ้าใช้งานแบบสแตนอโลนก็มีจุดอ่อนอยู่อย่างน้อย 3 ข้อ ผมขออธิบายโดยใช้ S-300 และ S-400 เป็นตัวแทน
จุดอ่อนข้อแรกของ S-300 และ S-400 มาจากจุดแข็งเรื่องระยะตรวจจับเรดาร์ แม้ในทางทฤษฎีเรดาร์ของ S-300 และ S-400 จะตรวจจับเป้าหมายได้ไกลสุดถึง 600 กิโลเมตร แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้หมายความว่าจะเห็นเป้าหมายทุกชนิดได้ที่ระยะ 600 กิโลเมตรเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับขนาดของอากาศยานและในกรณีของเครื่องบินสเตลท์ก็คือสารเคลือบผิว ส่งผลต่อขนาดหน้าตัดเรดาร์ ยิ่งหน้าตัดเรดาร์มีขนาดเล็ก ก็ยิ่งตรวจจับได้ยาก ระยะที่เรดาร์ของ S-300 และ S-400 สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ก็จะค่อยๆขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อระยะตรวจจับเรดาร์คือสภาพภูมิประเทศและความโค้งของผิวโลก ถ้าอากาศยานหรือจรวดร่อนของฝ่ายตรงข้ามบินต่ำลัดเลาะมาตามสภาพภูมิประเทศ ก็อาจหลบเรดาร์ของ S-300 และ S-400 ได้ ข้อนี้เป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมเรดาร์มักจะตั้งอยู่บนที่สูง รถฐานยิงอาจซ่อนพรางอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่เรดาร์ต้องอยู่บนที่สูง เพื่อให้เห็นเป้าหมาย
จุดอ่อนข้อที่สองก็มาจากจุดแข็งเรื่องระยะยิงของจรวด แม้จรวดของ S-300 และ S-400 จะมีหลายรุ่น หลายระยะ ตั้งแต่ระยะใกล้สุด 40 กิโลเมตร ไปจนถึงระยะไกลสุด 200 – 250 กิโลเมตรในกรณีของ S-300 และ 380 กิโลเมตรในกรณีของ S-400 แต่ในทางปฏิบัติเนื่องจากรถฐานยิงของ S-300 และ S-400 คันหนึ่งมีจรวดเพียง 4 ลูก จึงมักเลือกติดเฉพาะจรวดพิสัยไกลเท่านั้น จรวดเหล่านี้มีระยะยิงไกลสุดไกลมากก็จริง แต่ระยะยิง “ใกล้สุด” ก็ไกลออกไปด้วยเช่นกัน ถ้าอากาศยานหรือจรวดร่อนของฝ่ายตรงข้าม อาศัยสภาพภูมิประเทศบินต่ำหลบเรดาร์เล็ดลอดเข้ามาประชิด S-300 และ S-400 ได้ก็จบเกม
จุดอ่อนข้อที่สามของ S-300 และ S-400 ก็คือจำนวนจรวด เนื่องจากปกติ S-300 และ S-400 ระบบหนึ่งมีรถฐานยิง 4 – 8 คัน (ความจริงรองรับได้สูงสุด 12 คัน แต่ผมยังไม่เห็น S-300 หรือ S-400 ของประเทศไหนรวมถึงรัสเซียมีจำนวนรถฐานยิงต่อระบบมากขนาดนั้น) แต่ละคันมีจรวด 4 ลูก ปกติจะทำการยิงจรวด 2 ลูกต่อ 1 เป้าหมาย เท่ากับว่าในทางปฏิบัติ S-300 และ S-400 ระบบหนึ่งจะทำการต่อตีเป้าหมายได้พร้อมกันไม่เกิน 8 – 16 เป้าหมาย ถ้าอากาศยานของฝ่ายตรงข้ามมีจำนวนมาก S-300 และ S-400 ก็รับมือไม่ไหวเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าจุดอ่อนสำคัญของ S-300 และ S-400 คือเรดาร์ไม่สามารถตรวจจับอากาศยานและจรวดร่อนของฝ่ายตรงข้ามที่บินต่ำลัดเลาะสภาพภูมิประเทศเข้ามาได้ รวมถึงมีจำนวนจรวดน้อย วิธีแก้ไขคือต้องจับคู่ S-300 และ S-400 กับระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางที่มีระยะยิงรองลงมาเพื่ออุดช่องว่าง ในกรณีของรัสเซียมักจับคู่ S-400 กับระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ซึ่งติดอาวุธปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มิลลิเมตร 2 กระบอก ระยะยิง 4 กิโลเมตรและจรวดพื้นสู่อากาศระยะยิง 20 กิโลเมตร 12 ลูก โดยหน้าที่ของ Pantsir-S1 คือการรับมืออากาศยานและจรวดร่อนของฝ่ายตรงข้ามที่เล็ดลอดเข้ามาประชิด S-400 ได้ เพื่อให้ S-400 มุ่งความสนใจไปที่อากาศยานของฝ่ายตรงข้ามในระยะไกลได้เต็มที่ ในกรณีของฐานทัพอากาศ Hmeymim ของรัสเซียในจังหวัดลาตาเกียของซีเรียนอกจาก S-400 และ Pantsir-S1 แล้วรัสเซียยังวางกำลังระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ Tor-M2 เสริมเข้าไปอีกรุ่นหนึ่ง ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้ระบบป้องกันภัยทางอากาศจะสามารถใช้งานแบบสแตนอโลนได้ แต่ในทางปฏิบัติควรวางกำลังเป็นเครือข่ายเพื่ออุดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของกันและกัน
สวัสดี
19.05.2020

