จอมพลมันชไตน์ ผู้สร้างปาฏิหาริย์

ภาพถ่ายเอริช ฟอน มันชไตน์ในเครื่องแบบยศพลตรี ปี 1938
(Bundesarchiv, Bild 183-H01758 / CC-BY-SA 3.0)

หลังจากพูดถึงจอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ฉายาจิ้งจอกทะเลทราย (Desert Fox) ไปพอหอมปากหอมคอในบทความเกี่ยวกับวันดี-เดย์ (D-Day) ในบทความนี้ผมขอแนะนำให้รู้จักนายทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งคือจอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein)

ประวัติของมันชไตน์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองก็คล้ายกับนายทหารเยอรมันคนอื่นๆ มันชไตน์เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1887 ในกรุงเบอร์ลิน สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมันปี ค.ศ.1906 มีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก มีบทบาทในการฟื้นฟูกองทัพเยอรมันช่วงหลังสงคราม ได้เลื่อนยศเป็นพลตรีในปี ค.ศ.1936

เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในปี ค.ศ.1939 มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะเสนาธิการกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ในบังคับบัญชาของพลเอกเกิร์ด ฟอน รุนด์ชเต็ดต์ (Gerd von Rundstedt) มันชไตน์มีส่วนในการแก้ไขแผนบุกโปแลนด์หรือแผนขาว (Case White) แต่ยังไม่มีบทบาทสำคัญมากนัก

ต่อมาเมื่อเยอรมนีเตรียมบุกยุโรปตะวันตก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1940 พลเอกวัลเทอร์ ฟอน เบราชิทช์ (Walther von Brauchitsch) และเสนาธิการฟรานซ์ ฮัลเดอร์ (Franz Halder) ได้เสนอแผนเหลือง (Case Yellow) ซึ่งเป็นการปัดฝุ่นแผนชลีฟเฟน (Schlieffen Plan) สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นมาใหม่ โดยกองทัพเยอรมันจะบุกเข้าไปในเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม โอบเข้าไปทางภาคเหนือของฝรั่งเศส แต่มันชไตน์และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ไม่เห็นด้วย กลัวจะซ้ำรอยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลายเป็นสงครามสนามเพลาะ มันชไตน์ทำการแก้ไขแผนเหลืองใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากพลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) บิดาแห่งหน่วยยานเกราะเยอรมัน ผู้พัฒนายุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) กลายเป็นแผนมันชไตน์ (Manstein Plan) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากฮิตเลอร์ในที่สุด ส่งผลให้เบราชิทช์และฮัลเดอร์ไม่พอใจมาก

สาระสำคัญของแผนมันชไตน์คือเยอรมันจะใช้กลุ่มกองทัพบี (Army Group B) ซึ่งกำลังรบส่วนใหญ่เป็นทหารราบทำการรุกเข้าไปในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ล่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษและฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังเข้าตอบโต้ จากนั้นกลุ่มกองทัพเอ (Army Group A) ซึ่งกำลังรบหลักคือหน่วยยานเกราะจะทำการรุกผ่านป่าอาร์เดน ซึ่งเชื่อกันว่ารถถังไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านได้ เข้าตลบหลังฝ่ายสัมพันธมิตร เยอรมันเริ่มบุกยุโรปตะวันตกวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1940 แผนมันชไตน์ประสบความสำเร็จงดงาม กองทัพอังกฤษถูกไล่ต้อนไปจนมุมที่เมืองท่าดันเคิร์ก ต้องอพยพทหารกลับอังกฤษ ภาคเหนือของฝรั่งเศสเปิดโล่ง ให้กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองกรุงปารีสได้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1940 หลังจากนั้นมันชไตน์ก็มีส่วนร่วมในการวางแผนบุกอังกฤษหรือปฏิบัติการสิงโตทะเล (Operation Sea Lion) แต่เมื่อกองทัพอากาศเยอรมันไม่สามารถครองน่านฟ้าเหนือเกาะอังกฤษได้ ปฏิบัติการสิงโตทะเลก็ถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด มันชไตน์ว่างงานอยู่เกือบหนึ่งปี จนกระทั่งเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 ปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)

ภาพรถถัง Panzer II และ Panzer I ของเยอรมันเคลื่อนผ่านป่าอาร์เดน เดือนพฤษภาคม ปี 1940
(Bundesarchiv, Bild 101I-382-0248-33A / Böcker / CC-BY-SA 3.0)

ช่วงแรกๆของการบุกโซเวียต มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยยานเกราะที่ 56 (LVI Panzer Corps) สังกัดกลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ก่อนที่ในเดือนกันยายน ค.ศ.1941 จะถูกย้ายไปบัญชาการกองทัพที่ 11 แทนที่ผู้บัญชาการคนเดิมที่เสียชีวิตลง กองทัพที่ 11 ได้รับมอบหมายภารกิจให้เข้ายึดไครเมียและเมืองเซวัสโตโปล มันชไตน์ยึดเมืองนี้ได้อย่างเด็ดขาดในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ.1942 และได้รับการเลื่อนยศเป็นจอมพล ฮิตเลอร์เตรียมแต่งตั้งให้มันชไตน์ไปบัญชาการปิดล้อมเมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) แต่สถานการณ์ที่เมืองสตาลินกราดกลับพลิกผันขึ้นมาก่อน เมื่อกองทัพโซเวียตทำการรุกตอบโต้ตามปฏิบัติการยูเรนัส (Operation Uranus) โอบล้อมกองทัพที่ 6 และบางส่วนของกองทัพยานเกราะที่ 4 ของเยอรมันไว้ในเมืองสตาลินกราด

ภาพจอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์ยืนดูซากปรักหักพังของเมืองเซวัสโตโปลในไครเมีย เดือนกรกฎาคม ปี 1942

ฮิตเลอร์แต่งตั้งมันชไตน์เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพดอน (Army Group Don) ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1942 มอบหมายภารกิจฝ่าวงล้อมไปช่วยทหารเยอรมันในสตาลินกราด แม้หน่วยใต้บังคับบัญชาของมันชไตน์จะมีชื่อว่า “กลุ่มกองทัพ” ฟังดูยิ่งใหญ่มาก แต่หน่วยในสังกัดส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นหน่วยทหารเยอรมันที่เหลือรอดกระจัดกระจายมาจากการรุกของโซเวียต มีกำลังพลไม่เต็มอัตรา กำลังเสริมส่วนใหญ่ก็เดินทางมาไม่ถึง แม้จะขาดแคลนกำลังพลแต่มันชไตน์ก็สามารถตีฝ่าวงล้อมของโซเวียตในปฏิบัติการพายุฤดูหนาว (Operation Winter Storm) เป็นระยะทางถึง 150 กิโลเมตร จนอยู่ห่างจากเมืองสตาลินกราดแค่ประมาณ 50 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ทว่ากองทัพที่ 8 ของอิตาลีซึ่งป้องกันปีกให้มันชไตน์อยู่ถูกโซเวียตตีแตกเสียก่อน ส่งผลให้มันชไตน์ไม่สามารถรุกต่อไปได้ เพราะเสี่ยงที่จะถูกล้อมเสียเอง มันชไตน์ขอให้กองทัพที่ 6 ฝ่าวงล้อมออกมาแต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากกองทัพที่ 6 มีเชื้อเพลิงไม่เพียงพอ สุดท้ายมันชไตน์ก็ต้องสั่งถอนกำลัง

หลังสมรภูมิสตาลินกราด โซเวียตพลิกกลับมาเป็นฝ่ายรุก ตีโต้กองทัพเยอรมันล่าถอยไปถึงยูเครน ฮิตเลอร์สั่งให้ทหารเยอรมันสู้จนตัวตาย ห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียว แต่มันชไตน์ไม่เห็นด้วย สั่งให้ทหารเยอรมันถอยทัพ ล่อให้โซเวียตตีฝ่าลึกเข้ามาเรื่อยๆ ให้สายการส่งกำลังบำรุงยืดยาวออก แล้วเยอรมันค่อยตีโต้ทีหลังเรียกว่าการดีดกลับของสปริง ส่งผลให้กองทัพเยอรมันเอาชนะกองทัพโซเวียตที่มีกำลังพลมากกว่าหลายเท่า ยึดเมืองฮาร์คอฟซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญกลับมาได้

ภาพจอมพลเอริช ฟอน มันชไตน์พบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในแนวรบด้านตะวันออก วันที่ 18 มีนาคม ปี 1943
(Bundesarchiv, Bild 146-1995-041-23A / CC-BY-SA 3.0)

มันชไตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคใต้ในสมรภูมิคูร์ส ปฏิบัติการซิตาเดล (Operation Citadel) ในปี ค.ศ.1943 มันชไตน์ต้องการให้กองทัพเยอรมันบุกโจมตีแนวรบของโซเวียตให้เร็วที่สุด ก่อนจะมีโอกาสตั้งตัว แต่ฮิตเลอร์สั่งให้รอก่อน เพื่อให้เวลายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆของเยอรมันเข้าประจำการ โซเวียตรู้แผนของเยอรมันล่วงหน้า มีเวลาเตรียมตัวรับมือ สร้างแนวป้องกันที่เข้มแข็งจนยานเกราะเยอรมันฝ่าเข้าไปไม่ได้ รวมถึงเตรียมกำลังสำรองเข้าตีตลบหลังบริเวณปีกของกองทัพเยอรมันด้วย ส่งผลให้เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด ไม่สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายรุกในแนวรบด้านตะวันออกได้อีกเลย มันชไตน์ยังบัญชาการกลุ่มกองทัพภาคใต้ต่อไป แต่ก็มีปัญหาขัดแย้งกับฮิตเลอร์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายฮิตเลอร์จึงปลดมันชไตน์ออกจากตำแหน่งในเดือนมีนาคม ค.ศ.1944 ไม่ได้รับตำแหน่งใดๆอีกจนสิ้นสุดสงคราม

หลังสงคราม มันชไตน์ถูกอังกฤษจัมกุมขึ้นศาลอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์ก ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี ก่อนจะลดโทษลงเหลือ 12 ปี แต่มันชไตน์ต้องโทษจริงๆเพียง 3 ปีเท่านั้น และกระทรวงกลาโหมเยอรมนีตะวันตกยังได้เชิญมันชไตน์และอดีตนายทหารคนอื่นๆมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูกองทัพเยอรมันอีกด้วย ในปี ค.ศ.1955 มันชไตน์ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่าประสบการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สองชื่อชัยชนะที่สาบสูญ (Lost Victories) แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1958 (เข้าใจว่าปัจจุบันยังไม่มีฉบับภาษาไทย)

มันชไตน์เสียชีวิตในวันที่ 10 มิถุนายน ปี ค.ศ.1973 เมื่อมีอายุได้ 85 ปี

สวัสดี

20.05.2020

แสดงความคิดเห็น