
(Sorin Lingureanu)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มยืดเยื้อออกไปเมื่อเยอรมันไม่สามารถเอาชนะอังกฤษและสหภาพโซเวียตแบบสายฟ้าแลบอย่างที่วางแผนไว้ได้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ก็เริ่มคาดการณ์แล้วว่าสักวันหนึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกจะต้องยกพลขึ้นบกในยุโรปตะวันตกแน่นอน ฮิตเลอร์จึงออกคำสั่งหมายเลข 40 (Führer’s directives No.40) ในปี ค.ศ.1942 ให้กองทัพเยอรมันสร้างแนวป้องกันตามแนวชายฝั่งยุโรปตะวันตกเรียกว่ากำแพงแอตแลนติก (Atlantic Wall) ป้องกันการโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตร ช่วงแรกๆเยอรมันเน้นสร้างแนวป้องกันบริเวณฐานทัพเรือเป็นหลัก แต่ภายหลังก็ขยายออกไปตลอดแนวชายฝั่ง ตั้งแต่ภาคเหนือของนอร์เวย์ไล่ลงมาถึงชายแดนฝรั่งเศส-สเปน มีการสร้างบังเกอร์ รังปืนกล ทุ่งกับระเบิด รั้วลวดหนาม และสิ่งกีดขวางต่างๆจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหาคือเยอรมันไม่มีทรัพยากรและเวลามากพอจะสร้างกำแพงแอตแลนติกให้เสร็จสมบูรณ์ทุกจุดได้ นอกจากนี้ยังขาดแคลนกำลังพลที่จะมาประจำแนวป้องกันในพื้นที่ต่างๆด้วย เยอรมันจำเป็นต้องขบคิดหาคำตอบให้ได้ว่าสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่จุดไหน เพื่อจะได้ทุ่มเทกำลังพลและทรัพยากรไปป้องกันจุดนั้นก่อน
อย่างไรก็ตามหน่วยข่าวกรองของเยอรมันในสมัยนั้นด้อยประสิทธิภาพ ประกอบกับฝ่ายสัมพันธมิตรมีการรักษาความลับดีมาก แถมยังมีการสร้างข่าวลวงอีก ส่งผลให้กองบัญชาการเยอรมันแทบไม่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใช้ประกอบการตัดสินใจได้เลย ต้องอาศัยการคาดการณ์ล้วนๆ
ประเด็นแรกคือพื้นที่ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบก นายทหารเยอรมันหลายนายเชื่อว่าสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่เมืองท่าคาเลส์ (Calais) เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ใกล้อังกฤษมากที่สุด ฝั่งตรงข้ามช่องแคบอังกฤษคือเมืองโดเวอร์ (Dover) อยู่ห่างกันประมาณ 40 กิโลเมตรเท่านั้น ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เยอรมันเชื่อเช่นนั้นเพราะเยอรมันใช้บรรทัดฐานของตัวเองว่าถ้าจะบุกอังกฤษ เยอรมันก็จะข้ามช่องแคบอังกฤษบริเวณที่แคบที่สุด ปัญหาคือเยอรมันลืมคิดถึงขีดความสามารถทางเรือที่แตกต่างกัน กองทัพเรือเยอรมันเข้าสู่สงครามทั้งที่ไม่พร้อม ช่วงที่เยอรมันพยายามจะบุกอังกฤษในปี ค.ศ.1940 นั้นเรือรบผิวน้ำจำนวนมากของเยอรมันได้รับความเสียหายจากการรบที่นอร์เวย์ เรือยกพลขึ้นบกก็ขาดแคลน ต้องไปเกณฑ์เรือโดยสารและเรือข้ามฟากตามแม่น้ำสายต่างๆในยุโรปมาใช้ ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องพิสัยบินของเครื่องบินขับไล่เยอรมัน ปัจจัยเหล่านี้บีบบังคับให้เยอรมันต้องเลือกยกพลข้ามช่องแคบอังกฤษบริเวณที่แคบที่สุด ซึ่งก็ยังอาจจะไปไม่รอดอยู่ดี โชคดีที่กองทัพอากาศเยอรมันไม่สามารถครองน่านฟ้าอังกฤษใน Battle of Britain ได้ เยอรมันจึงมีข้ออ้างยกเลิกแผนบุกเกาะอังกฤษหรือปฏิบัติการสิงโตทะเล (Operation Sea Lion) ไปแบบเนียนๆ อย่างไรก็ตามสมมติฐานนี้ไม่สามารถใช้ได้กับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีเรือและเครื่องบินรบจำนวนมหาศาล นอกจากนี้เครื่องบินขับไล่ของฝ่ายสัมพันธมิตรยังมีพิสัยบินไกลมาก เนื่องจากออกแบบมาให้สามารถคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดจากอังกฤษไปถึงพื้นที่ต่างๆในยุโรปได้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีตัวเลือกพื้นที่ที่จะยกพลขึ้นบกได้มาก ไม่จำเป็นต้องเลือกจุดที่ใกล้อังกฤษที่สุดแต่อย่างใด การที่เยอรมันทุ่มเทกำลังพลและทรัพยากรไปป้องกันเมืองท่าคาเลส์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่มีการสร้างกำแพงแอตแลนติกใกล้เสร็จสมบูรณ์ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรเลือกยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ถัดออกไปทางตะวันตก ซึ่งกำแพงแอตแลนติกยังสร้างไม่เสร็จ แนวป้องกันเบาบางกว่า กำลังพลที่ประจำการอยู่ส่วนใหญ่ขีดความสามารถด้อยกว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day) ประสบความสำเร็จ

(Bundesarchiv, Bild 101II-MN-1369-10A / CC-BY-SA 3.0)

ประเด็นถัดมาคือการวางกำลังหน่วยยานเกราะเยอรมัน ที่ผ่านมานายทหารเยอรมันส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในแนวรบด้านตะวันออกกับสหภาพโซเวียตเป็นหลัก ลักษณะของแนวรบด้านตะวันออกคือพื้นที่โล่งกว้าง และเยอรมันมักจะเป็นฝ่ายครองอากาศ การวางกำลังหน่วยยานเกราะเยอรมันจึงไม่เน้นตั้งรับอยู่กับที่ในแนวหน้า แต่จะรวมกำลังกันไว้หลังแนวรบ เมื่อกองทัพโซเวียตบุก เยอรมันก็จะส่งหน่วยยานเกราะเข้าตีโต้อย่างรุนแรง ผลักดันทหารโซเวียตกลับไป นายทหารเยอรมันส่วนใหญ่คุ้นเคยกับยุทธวิธีนี้ดี และคิดจะนำมาใช้ในยุโรปตะวันตกด้วย โดยการรวมกำลังหน่วยยานเกราะไว้ในฝรั่งเศสใกล้กรุงปารีส รอให้สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกรู้พื้นที่เป้าหมายแน่นอนแล้วค่อยเคลื่อนกำลังเข้าตอบโต้
อย่างไรก็ตามจอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ฉายาจิ้งจอกทะเลทราย (Desert Fox) ซึ่งมีประสบการณ์รบกับอังกฤษและสหรัฐฯในแอฟริกาเหนือมาก่อน มองว่ายุทธวิธีดังกล่าวไม่สามารถใช้ในยุโรปตะวันตกได้ เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรมีเรือรบและเครื่องบินจำนวนมหาศาล กองทัพอากาศเยอรมันไม่สามารถต่อกรได้เลย เมื่อสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายครองอากาศ ถ้าปล่อยให้ยกพลขึ้นบกมาก่อน กว่าเยอรมันจะรวมกำลังยานเกราะเข้าตีโต้ได้ ก็คงถูกโจมตีทางอากาศกระจัดกระจายไปแล้ว หรือต่อให้ฝ่าไปถึงชายหาดได้ก็คงถูกระดมยิงด้วยปืนเรือ รอมเมลมองว่าเยอรมันควรทุ่มกำลังทั้งหมดไปป้องกันชายหาด สกัดไม่ให้สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกได้ตั้งแต่ต้น
เมื่อนายทหารเยอรมันมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็จำเป็นต้องให้ฮิตเลอร์ตัดสิน ฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่ยอมให้นายทหารคนใดคนหนึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาทหารทุกหน่วยได้เต็มที่ รอมเมลมีอำนาจสั่งการกองพลยานเกราะเพียง 3 กองพลจากทั้งหมด 10 กองพล และในจำนวนนี้มีเพียงกองพลเดียวคือกองพลพันเซอร์ที่ 21 (21st Panzer Division) ที่วางกำลังอยู่ใกล้หาดนอร์มังดีมากพอจะโจมตีตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรในวันดี-เดย์ได้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ดี-เดย์ประสบความสำเร็จ
สวัสดี
20.05.2020

(Bundesarchiv, Bild 101I-300-1865-08 / CC-BY-SA 3.0)