จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเยอรมันส่งยานเกราะตีโต้การยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ ?

ภาพรถถัง คือนิกส์ทีเกอร์ (Königstiger) หรือคิงไทเกอร์ (King Tiger) ของเยอรมันในฝรั่งเศส เดือนมิถุนายน 1944
(Bundesarchiv, Bild 101I-721-0397-29 / Wagner / CC-BY-SA 3.0)

หลังจากพูดถึงข้อผิดพลาดในการวางแผนตั้งรับของเยอรมันที่ช่วยส่งผลให้การยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรในวันดี-เดย์ (D-Day) วันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ.1944 ที่หาดนอร์มังดี (Normandy) ทางภาคเหนือของฝรั่งเศสประสบความสำเร็จแล้ว บทความนี้ก็จะวิเคราะห์กรณีสมมติว่าถ้าเยอรมันสามารถส่งกองพลยานเกราะหรือพันเซอร์จำนวนมากเข้าตีโต้การยกพลขึ้นบกได้ทันท่วงทีตามที่จอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) วางแผนไว้ แทนที่จะมีเพียงกำลังบางส่วนของกองพลพันเซอร์ที่ 21 ที่เข้าตีหัวหาดตามเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เยอรมันจะมีโอกาสชนะหรือไม่ ?

ก่อนอื่นต้องดูปัจจัยที่จะส่งผลให้มีกองพลยานเกราะเยอรมันจำนวนมากเข้าตีหัวหาดได้ทันทีก่อนครับ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือเยอรมันจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่จุดไหน เพราะถ้าเยอรมันไม่รู้พื้นที่ที่สัมพันธมิตรจะขึ้นบกหรือคาดการณ์พื้นที่ผิด ยานเกราะทั้งหมดของเยอรมันก็จะไปรวมกำลังกันผิดจุด ห่างออกไป ซึ่งอาจเลวร้ายกว่าการมีกองพลพันเซอร์ที่ 21 อยู่ใกล้ชายหาดกองพลเดียวเสียอีก เรื่องนี้แม้แต่รอมเมลก็อาจคาดการ์ผิดเหมือนกันเห็นได้จากกองพลยานเกราะ 3 กองพลที่รอมเมลบัญชาการนั้นมีเพียงกองพลเดียวคือกองพลพันเซอร์ที่ 21 ที่มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองก็อง (Caen) ใกล้หาดนอร์มังดี ส่วนอีกสองกองพลวางกำลังอยู่ใกล้เมืองท่าคาเลส์ (Calais) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้อังกฤษที่สุด ซึ่งนายทหารเยอรมันส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายที่สัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบก

เมื่อเยอรมันรู้พื้นที่เป้าหมายที่สัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกแล้วก็ต้องเตรียมเคลื่อนหน่วยยานเกราะไปดักรอ ซึ่งต้องทำเป็นความลับ เพราะถ้าสัมพันธมิตรรู้ก็อาจเปลี่ยนจุดที่จะยกพลขึ้นบกได้ง่ายๆ การรักษาความลับเรื่องที่ตั้งหน่วยยานเกราะมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เยอรมันสามารถสกัดการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตรตามปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เดน (Operation Market Garden) ในฮอลแลนด์ เดือนกันยายน ค.ศ.1944 ได้ เนื่องจากช่วงก่อนปฏิบัติการ เยอรมันได้ย้ายกองพลยานเกราะสองกองพลไปพักเสริมกำลังที่เมืองอาร์นเฮม (Arnhem) ซึ่งมีสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ เป็นเป้าหมายสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กองพลพลร่มที่ 1 ของอังกฤษต้องบุกเข้ายึด ในสมรภูมิดังกล่าว พลร่มอังกฤษขาดการสนับสนุน ไม่สามารถป้องกันการตีโต้โดยรถถังเยอรมันได้ สูญเสียกำลังพลไปถึง 8,000 นาย

เมื่อเยอรมันรู้พื้นที่ที่สัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกและส่งยานเกราะไปดักรอไว้ล่วงหน้าแล้ว ประเด็นถัดไปก็คือจะใช้งานยังไง ควรวางกำลังอยู่ที่จุดไหนของชายหาด ต่อให้เยอรมันมียานเกราะอยู่ใกล้ชายหาด แต่ถ้าอยู่ใกล้มากเกินไป ก็อาจถูกยิงถล่มด้วยปืนเรือหรือถูกโจมตีทางอากาศตั้งแต่ก่อนเรือยกพลขึ้นบกของสัมพันธมิตรจะเข้าเกยหาด แต่ถ้าวางกำลังห่างจากชายหาดเกินไป ก็ต้องใช้เวลาในการเข้าถึงหัวหาด ถึงตอนนั้นสัมพันธมิตรอาจตีแนวป้องกันของทหารราบที่หาดแตก สถาปนาหัวหาดแล้วก็ได้ แบบที่เกิดขึ้นกับกองพลพันเซอร์ที่ 21 หน่วยยานเกราะเยอรมันจึงต้องวางกำลังไม่ใกล้หรือไกลจากชายหาดมากเกินไป พร้อมกับหวังว่าทหารราบที่ป้องกันชายหาดอยู่จะสามารถถ่วงเวลาได้นานพอที่ยานเกราะจะเคลื่อนกำลังไปถึง

ตามประวัติศาสตร์วันดี-เดย์ ทหารเยอรมันที่ป้องกันหาดนอร์มังดีจำนวนมากเกณฑ์มาจากกำลังสำรอง คนแก่ วัยรุ่น และอาสาสมัครต่างชาติ ขีดความสามารถและขวัญกำลังใจต่ำ แถมยังขาดแคลนยานพาหนะ บางกองพลมีสถานะเป็น static division คือไม่มีขีดความสามารถในการเคลื่อนกำลังไปไหนเลย ทำได้เพียงเฝ้าแนวป้องกันอยู่กับที่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ชายหาดออกมาได้อย่างรวดเร็ว มีข้อยกเว้นเพียงหาดโอมาฮ่า (Omaha Beach) ที่ทหารอเมริกันยกพลขึ้นบกเท่านั้น ซึ่งถูกป้องกันโดยกองพลทหารราบที่ 352 ของเยอรมันซึ่งมีขีดความสามารถสูง สามารถป้องกันชายหาดได้ตลอดทั้งวันจนกระสุนหมด ส่งผลให้มีทหารอเมริกันบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ถ้าเยอรมันจะป้องกันชายหาดให้ได้นานพอจนกองพลยานเกราะเดินทางมาถึง ก็ต้องหาหน่วยทหารแบบกองพลทหารราบที่ 352 มาประจำแนวป้องกันกำแพงแอตแลนติก (Atlantic Wall) มากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะนอกจากการป้องกันชายฝั่งยุโรปตะวันตกแล้ว เยอรมันยังต้องรบกับสหภาพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออก และกับสัมพันธมิตรในแนวรบอิตาลีไปพร้อมกันด้วย ส่งผลให้มีปัญหาขาดแคลนทหาร

ทีนี้เมื่อหน่วยยานเกราะเคลื่อนกำลังมาสนับสนุนทหารราบที่ป้องกันชายหาดได้ทันเวลา ก็ไม่สามารถการันตีได้อีกเช่นกันว่าจะสกัดการยกพลขึ้นบกได้สำเร็จ เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศที่เข้มแข็งสนับสนุนอยู่ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดคือฝ่ายสัมพันธมิตรต้องถอยลงทะเลไป โดยที่ฝ่ายเยอรมันเองก็เสียหายหนัก ไม่แน่ใจว่าจะมีกำลังเหลือพอจะป้องกันการยกพลขึ้นบกระลอกถัดไปหรือในพื้นที่อื่นหรือไม่ กรณีเลวร้ายที่สุดคือยานเกราะของเยอรมันส่วนใหญ่หรือทั้งหมดถูกทำลายที่ชายหาด และฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถสถาปนาหัวหาด ทำการรุกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ไร้การต่อต้าน ต่างจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ในบางพื้นที่ เยอรมันสามารถสกัดการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตรออกจากหัวหาดในนอร์มังดีได้นานถึงสองเดือนเช่นที่เมืองก็อง

สรุปคือเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี 1944 เยอรมันไม่มีความหวังจะชนะสงครามได้แล้ว ทำได้เพียงยืดเวลาก่อนความพ่ายแพ้จะมาถึงออกไปเท่านั้น

สวัสดี

20.05.2020

แสดงความคิดเห็น