อาวุธต่อสู้รถถังพันเซอร์เฟาส์ : ต้นตระกูลจรวดอาร์พีจี

ภาพทหารฟินแลนด์ถืออาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust เดินผ่านซากรถถังโซเวียตซึ่งถูกทำลายโดยปืนใหญ่อัตตาจรของเยอรมัน วันที่ 30 มิถุนายน ปี 1944 (Military Museum of Finland)

อาวุธต่อสู้รถถังพันเซอร์เฟาส์ (Panzerfaust) ชื่อแปลตรงตัวว่ากำปั้นรถถัง (Tank Fist) เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ของเยอรมันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในช่วงปลายสงครามซึ่งเยอรมันแจกจ่ายพันเซอร์เฟาส์จำนวนมากให้อาสาสมัคร Volkssturm และยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth หรือภาษาเยอรมันคือ Hitlerjugend) ป้องกันกรุงเบอร์ลินจากกองทัพสหภาพโซเวียต หลังสงครามโซเวียตได้นำพันเซอร์เฟาส์ไปพัฒนาต่อยอดกลายเป็นจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี (RPG)

เยอรมันเริ่มพัฒนาพันเซอร์เฟาส์ในปี ค.ศ.1942 และนำเข้าประจำการในปี ค.ศ.1943 มีรุ่นย่อยหลายรุ่น รุ่นแรกมีชื่อว่า Panzerfaust 30 Klein ก่อนจะมีรุ่น Panzerfaust 60 และ Panzerfaust 100 ซึ่งมีการใช้งานแพร่หลายตามออกมา พันเซอร์เฟาส์รุ่นสุดท้ายที่ทันเข้าสู่สายการผลิตก่อนสงครามสิ้นสุดคือ Panzerfaust 150 ซึ่งรุ่นนี้ภายหลังโซเวียตจะนำไปพัฒนาต่อยอดเป็น RPG-2

สังเกตว่าผมไม่ได้เรียกพันเซอร์เฟาส์ว่า “จรวด” ต่อสู้รถถัง เนื่องจากการทำงานของพันเซอร์เฟาส์ใช้การจุดระเบิดของดินปืนในท่อยิง ส่งหัวรบพุ่งออกไปหาเป้าหมาย หัวรบของพันเซอร์เฟาส์จึงไม่มีเชื้อเพลิงขับดันภายในซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของจรวด การออกแบบดังกล่าวช่วยลดแรงสะท้อนไปได้มาก แต่ก็ส่งผลให้พันเซอร์เฟาส์มีระยะยิงหวังผลสั้นมากเช่นกัน ในรุ่น Panzerfaust 60 ซึ่งถูกผลิตออกมามากที่สุด มีระยะยิงหวังผลประมาณ 60 เมตรเท่านั้น

พันเซอร์เฟาส์เป็นอาวุธต่อสู้รถถังแบบใช้แล้วทิ้ง ราคาถูก สามารถผลิตออกมาได้เป็นจำนวนมาก และใช้งานง่าย แม้แต่เด็ก ผู้หญิง และคนแก่ก็ใช้งานได้ เหมาะสำหรับสถานการณ์ของเยอรมันในช่วงปลายสงคราม ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนทหาร ต้องเกณฑ์ประชาชนมาจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัคร Volkssturm และยุวชนฮิตเลอร์มาทำการรบ

แม้พันเซอร์เฟาส์จะมีขีดความสามารถสูง สามารถเจาะเกราะรถถังหนาถึง 200 มิลลิเมตร แต่เพราะจุดอ่อนเรื่องระยะยิงหวังผล จึงเหมาะสำหรับใช้ซุ่มโจมตีเท่านั้น อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสงคราม รวมถึงในสมรภูมิเบอร์ลิน กองทัพโซเวียตได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้ทหารราบนำหน้ารถถังเข้าเคลียร์อาคารต่างๆ บีบให้ทหารเยอรมันต้องปะทะกับทหารโซเวียต เปิดเผยที่ตั้ง ให้รถถังสามารถยิงทำลายได้จากระยะไกล นอกระยะยิงหวังผลของพันเซอร์เฟาส์ วิธีนี้แม้จะส่งผลให้โซเวียตสูญเสียทหารมาก แต่โซเวียตมีทหารมากกว่าเยอรมันหลายเท่า และทหารจำนวนมากก็เป็นทหารผ่านศึกตั้งแต่สมรภูมิสตาลินกราด มีความชำนาญในการรบในเมือง ต่างจากฝั่งเยอรมันที่ทหารอาชีพเหลือน้อยเต็มที ต้องเกณฑ์เด็ก ผู้หญิง และคนแก่มาช่วยรบ สุดท้ายพันเซอร์เฟาส์และยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยรุ่นอื่นๆก็ไม่สามารถช่วยพลิกสถานการณ์ให้เยอรมันได้

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โซเวียตได้นำ Panzerfaust 150 ไปพัฒนาต่อยอดเป็น RPG-2 ก่อนจะกลายเป็น RPG-7 ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

สวัสดี

21.05.2020

ภาพพิธีสาบานตนของกองกำลังอาสาสมัคร Volkssturm ในกรุงเบอร์ลิน วันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 1944 สังเกตจำนวน Panzerfaust ที่หน่วยนี้มีใช้งาน (Bundesarchiv, Bild 146-1971-033-15 / CC-BY-SA 3.0)

แสดงความคิดเห็น