ว่าด้วยกำแพงแอตแลนติกและเกาะอิโวจิมา

ภาพจอมพลเออร์วิน รอมเมลและคณะตรวจเยี่ยมแนวป้องกันกำแพงแอตแลนติก วันที่ 21 ธันวาคม ปี 1943
(Bundesarchiv, Bild 101I-295-1596-12 / Kurth / CC-BY-SA 3.0)

ในหนังสือ Flags of Our Fathers แต่งโดย James Bradley (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ “ยุทธภูมินรกอิโวจิมา” แปลโดยฉัตรนคร องคสิงห์ สำนักพิมพ์มติชน) ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทหารอเมริกันที่ยกพลขึ้นบกและปักธงบนเกาะอิโวจิมาของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการเปรียบเทียบแนวป้องกันชายฝั่งยุโรปตะวันตกหรือที่เรียกว่ากำแพงแอตแลนติกของเยอรมนี กับการป้องกันเกาะอิโวจิมาของญี่ปุ่นไว้น่าสนใจ กล่าวคือเยอรมันลงทุนใช้เวลาหลายปีสร้างกำแพงแอตแลนติกยาวหลายพันกิโลเมตรอย่างยิ่งใหญ่ มีบังเกอร์คอนกรีต ป้อมปืนใหญ่ รังปืนกล ฯลฯ มากมาย แต่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day) วันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ.1944 ที่หาดนอร์มังดี ตีฝ่ากำแพงแอตแลนติกได้ในวันเดียว แต่ทหารญี่ปุ่นบนเกาะอิโวจิมา ใช้วิธีการขุดอุโมงค์ใต้ดิน สามารถป้องกันเกาะอิโวจิมาได้นานถึงหนึ่งเดือน สร้างความเสียหายให้ฝั่งสหรัฐฯอย่างมาก

ตอนที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เมื่อมาลองคิดดูอีกทีก็พบว่าระหว่างกำแพงแอตแลนติกและการป้องกันเกาะอิโวจิมา ความจริงมีเงื่อนไขต่างกัน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

กองทัพเยอรมันที่ป้องกันกำแพงแอตแลนติก ไม่รู้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกที่จุดไหน ต้องกระจายกำลังตั้งแต่ชายฝั่งทางเหนือของประเทศนอร์เวย์ไล่ลงมาผ่านประเทศเดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส จนถึงชายแดนติดกับสเปน ระยะทางหลายพันกิโลเมตร เยอรมันไม่มีกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพียงพอจะป้องกันพื้นที่ขนาดนั้น แนวป้องกันส่วนใหญ่ล้วนกระจุกอยู่ที่บริเวณท่าเรือสำคัญๆ โดยเฉพาะเมืองท่าคาเลส์ซึ่งอยู่ใกล้อังกฤษที่สุด ส่วนพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆรวมถึงหาดนอร์มังดีที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์นั้นมีการวางกำลังค่อนข้างเบาบาง และแนวป้องกันก็ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์

ในทางตรงกันข้าม เกาะอิโวจิมามีพื้นที่เพียง 8 ตารางไมล์ (21 ตารางกิโลเมตร) เท่านั้น แต่มีทหารญี่ปุ่นประจำอยู่ถึง 21,000 นาย และมีชายหาดที่เหมาะสำหรับยกพลขึ้นบกเพียงจุดเดียว เรียกว่า Green Beach ผู้บัญชาการของญี่ปุ่นรู้ดีอยู่แล้วว่าทหารอเมริกันจะยกพลขึ้นบกที่ไหน เตรียมวางกำลังไว้รอรับเต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทหารญี่ปุ่นจะสามารถรักษาเกาะอิโวจิมาไว้ได้นานกว่าทหารเยอรมันป้องกันกำแพงแอตแลนติก

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทหารญี่ปุ่นบนเกาะอิโวจิมาไม่เก่งแต่อย่างใด แต่การป้องกันเกาะอิโวจิมาควรเปรียบเทียบกับการป้องกันเกาะอื่นๆในแปซิฟิกของญี่ปุ่นที่มีเงื่อนไขคล้ายกัน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการขุดอุโมงค์ใต้ดินเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้อง เพราะบนเกาะอื่นๆหลายแห่งทหารญี่ปุ่นเลือกสร้างแนวป้องกันโดยการขุดสนามเพลาะที่ชายหาด ส่งผลให้ตกเป็นเป้าของปืนเรือและการโจมตีทางอากาศ ถูกลดทอนกำลังไปตั้งแต่ทหารอเมริกันยังไม่ยกพลขึ้นบก แต่การขุดอุโมงค์สามารถป้องกันทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่จากปืนเรือและการโจมตีทางอากาศ เก็บออมกำลังไว้ใช้ทำสงครามยืดเยื้อกับทหารอเมริกันได้

สวัสดี

22.05.2020

แสดงความคิดเห็น