
รถถัง Leopard-2A4 เป็นรถถัง Leopard-2 รุ่นที่มีผู้ใช้งานแพร่หลายที่สุด เข้าประจำการในกองทัพเยอรมนีตะวันตกในปี ค.ศ.1979 ช่วงเวลาใกล้เคียงกับรถถัง T-80 ของสหภาพโซเวียต (ค.ศ.1976) และรถถัง M1 Abrams ของสหรัฐฯ (ค.ศ.1980) สมัยนั้นเยอรมนีตะวันตกเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดของ NATO มีการจัดหารถถัง Leopard-2A4 ทั้งที่ผลิตใหม่และอัพเกรดจากรถถังรุ่นเก่าเข้าประจำการถึง 2,125 คัน นอกจากนี้ยังมีประจำการในประเทศเนเธอร์แลนด์อีก 445 คัน รวมถึงเป็นต้นแบบให้สวิตเซอร์แลนด์ทำการผลิตรถถัง Panzer 87 Leopard ภายใต้สิทธิบัตรอีก 380 คัน จะเห็นได้ว่าสมัยสงครามเย็นมีการผลิตรถถัง Leopard-2A4 ออกมามากกว่า 3,000 คัน
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์มีรถถัง Leopard-2A4 มากเกินความต้องการใช้งาน จึงส่งออกรถถังรุ่นนี้ให้ประเทศต่างๆหลายประเทศเช่นออสเตรีย แคนาดา ชิลี กรีซ โปแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ รถถัง Leopard-2A4 จึงเป็นรถถัง Leopard-2 รุ่นที่มีผู้ใช้งานแพร่หลายที่สุด
จุดอ่อนของรถถัง Leopard-2A4 ที่สำคัญมีอยู่สองจุด จุดแรกคือที่เก็บกระสุนที่อยู่ในตัวรถซึ่งไม่มีการป้องกันแต่อย่างใด (รถถัง Leopard-2A4 มีที่เก็บกระสุน 2 จุด ในป้อมปืนและในตัวรถ) เกราะบริเวณตัวรถโดยเฉพาะด้านข้างก็ไม่ได้หนามาก ถ้าถูกยิงด้วยกระสุนเจาะเกราะหรือจรวดต่อสู้รถถังบริเวณดังกล่าวก็มีโอกาสเกิดการระเบิด ป้อมบินคล้ายกรณีรถถัง T-72 ได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรถถัง Leopard-2A4 ของตุรกีที่ถูกกลุ่ม IS ทำลายทางภาคเหนือของซีเรีย
จุดอ่อนอีกจุดของรถถัง Leopard-2A4 คือกล้องเล็งของพลยิงที่เว้าเข้าไปในเกราะด้านหน้าของป้อมปืน บริเวณดังกล่าวมีเกราะบางกว่าจุดอื่น (จุดอ่อนข้อนี้ได้รับการแก้ไขแล้วในรถถัง Leopard-2 รุ่นใหม่ๆ)
รถถัง Leopard-2A4 ที่เยอรมนีขายให้สิงคโปร์และอินโดนีเซีย มีการอัพเกรดเพิ่มเติมเป็น Leopard-2SG และ Leopard-2RI ตามลำดับ มีการเสริมเกราะทั้งบนป้อมปืนและตัวรถ ซึ่งช่วยลดจุดอ่อนข้อแรกลงไปได้พอสมควร แต่จุดอ่อนข้อที่สองยังคงอยู่ เนื่องจากบริเวณกล้องเล็งของพลยิงไม่สามารถเสริมเกราะได้ เพราะจะไปบังกล้อง กล้องเล็งของพลยิงจึงเป็นจุดอ่อนสำคัญของรถถังสิงคโปร์และอินโดนีเซีย มีเกราะบางกว่าส่วนอื่นๆของป้อมปืนและตัวรถที่มีการเสริมเกราะอย่างเห็นได้ชัด
สวัสดี
22.05.2020
