เยอรมันและญี่ปุ่นต้องการรบกับโซเวียต … คนละเวลา

ตรงกันข้ามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เยอรมนีและญี่ปุ่นมีการประสานงานช่วยเหลือกันน้อยมากในสงครามโลกครั้งที่สอง การดำเนินนโยบายต่อสหภาพโซเวียตเป็นกรณีตัวอย่างชัดเจน

ภาพรถถังเบาตระกูล BT ของสหภาพโซเวียตในสมรภูมิฮาลฮิน โกล ปี 1939

ในปี ค.ศ.1931 ญี่ปุ่นแผ่อิทธิพลเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ยึดครองแมนจูเรีย (Manchuria) จัดตั้งเป็นรัฐหุ่นเชิดแมนจูกัว (Manchukuo) ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดนกับสหภาพโซเวียต สถานการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อโซเวียตให้การสนับสนุนจีนทำสงครามกับญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1937 นำไปสู่การปะทะกันบริเวณชายแดนระหว่างกองทัพโซเวียตและญี่ปุ่นซึ่งเริ่มขึ้นช่วงกลางปี ค.ศ.1938 และสิ้นสุดในเดือนกันยายนปี ค.ศ.1939 เมื่อกองทัพโซเวียตภายใต้บังคับบัญชาของเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนายพลนิรนาม รบชนะกองทัพญี่ปุ่นในสมรภูมิฮาลฮิน โกล (Khalkhin Gol)

ความขัดแย้งกับโซเวียตเป็นสาเหตุสำคัญให้ญี่ปุ่นทำสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Anti-Comintern Pact) กับเยอรมนี ช่วงปลายปี ค.ศ.1936 ซึ่งภายหลังอิตาลีและสเปนได้เข้าร่วมด้วย นำไปสู่การจัดตั้งฝ่ายอักษะ (Axis) ญี่ปุ่นต้องการให้เยอรมนีเป็นพันธมิตรต่อต้านโซเวียต แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเมื่อเยอรมนีและโซเวียตทำสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ (Molotov-Ribbentrop Pact) ในวันที่ 23 สิงหาคม ปี ค.ศ.1939 ระหว่างที่ญี่ปุ่นกำลังรบกับโซเวียตที่ฮาลฮิน โกลเลย สาเหตุเกิดจากเยอรมนีกำลังจะบุกโปแลนด์ เตรียมทำสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส ไม่ต้องการห่วงหน้าพะวงหลังทำศึกสองด้าน จะเห็นได้ว่าแม้จะอยู่ฝ่ายอักษะเหมือนกันแต่เยอรมนีและญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ต่างกัน

แม้เยอรมนีจะมีแผนบุกโซเวียตในปี ค.ศ.1941 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทว่าตอนนั้นญี่ปุ่นได้หันความสนใจไปที่แหล่งทรัพยากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมบุกลงใต้แล้ว ญี่ปุ่นต้องการมุ่งความสนใจไปที่การทำสงครามกับสหรัฐฯและอังกฤษได้เต็มที่ จึงทำสนธิสัญญาความเป็นกลางระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่น (Soviet-Japanese Neutrality Pact) ในวันที่ 13 เมษายนปี ค.ศ.1941 ก่อนหน้าเยอรมนีจะเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa) เพียงสองเดือน ส่งผลให้เยอรมนีหัวเสียมาก

การที่ญี่ปุ่นไม่ยอมช่วยเยอรมนีบุกโซเวียตจากทิศตะวันออก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เยอรมนีไม่สามารถยึดกรุงมอสโกได้ช่วงปลายปี ค.ศ.1941 เพราะโซเวียตสามารถย้ายกำลังทหารหลายสิบกองพลจากไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลไปเสริมกำลังด้านยุโรป ตีโต้กองทัพเยอรมันจนต้องล่าถอยไปจากกรุงมอสโกได้

สวัสดี

23.05.2020

ภาพการลงนามสัญญาความเป็นกลางระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่น วันที่ 13 เมษายน ปี 1941

แสดงความคิดเห็น