ความล้มเหลวของญี่ปุ่นในเพิร์ลฮาร์เบอร์

เช้าวันที่ 7 ธันวาคม ปี ค.ศ.1941 เครื่องบินรบของญี่ปุ่นประมาณ 350 ลำขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำในกองเรือคิโด บุไต (Kido Butai) โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ สร้างความเสียหายให้กองเรือแปซิฟิกของสหรํฐฯอย่างมหาศาล เรือประจัญบานของสหรัฐฯจมไป 4 ลำ เสียหายอย่างหนัก 4 ลำ เรือรบประเภทอื่นๆได้รับความเสียหายอีกหลายลำ รวมถึงมีเครื่องบินรบถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายเกือบ 400 ลำ ในขณะที่ฝั่งญี่ปุ่นเสียเรือดำน้ำขนาดจิ๋วไป 5 ลำและมีเครื่องบินรบถูกยิงตกเพียง 29 ลำ หากดูเฉพาะความสูญเสียแบบผิวเผิน อาจดูเหมือนว่าญี่ปุ่นได้รับชัยชนะครั้งใหญ่จากการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ถ้าพิจารณาวัตถุประสงค์ของญี่ปุ่นในการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ต้องถือว่าญี่ปุ่นล้มเหลวครับ

ภาพไฟไหม้เรือประจัญบานอริโซน่า (USS Arizona) ของสหรัฐฯหลังถูกญี่ปุ่นโจมตีทางอากาศที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ วันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941

สาเหตุที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ไม่ได้เกิดจากญี่ปุ่นอยากทำสงครามกับสหรัฐฯ เพื่อยึดครองโลกอะไรแบบนั้น (ฝ่ายอักษะไม่มีกำลังเพียงพอจะยึดครองโลกได้แบบที่มักโฆษณาชวนเชื่อกัน) แต่เป็นเพราะญี่ปุ่นมองว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกับสหรัฐฯได้ ในกรณีที่ญี่ปุ่นจะขยายอิทธิพล เข้ายึดครองแหล่งทรัพยากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจชิงโจมตีกำลังรบของสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิกก่อน เพื่อให้ญี่ปุ่นทุ่มกำลังลงใต้ได้เต็มที่เป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ก่อนจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาในเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นได้เปรียบ

สำหรับเรือรบของสหรัฐฯในเพิร์ล ฮาร์เบอร์ที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ญี่ปุ่นต้องการจมให้ได้ ไม่ใช่เรือประจัญบาน แต่เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งขณะนั้นมีอยู่ 2 ลำคือเล็กซิงตัน (USS Lexington CV-2) และเอนเตอร์ไพรส์ (USS Enterprise CV-6) ญี่ปุ่นกลัวว่าสหรัฐฯจะใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นสนามบินลอยน้ำส่งเครื่องบินไปโจมตีเกาะใหญ่ของญี่ปุ่น ระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังรุกลงใต้ ซึ่งภายหลังก็เกิดขึ้นจริงๆในปฏิบัติการดูลิตเติล (Doolittle Raid)

ถือว่าสหรัฐฯโชคดีมากที่เรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสองลำไม่ได้อยู่ในเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในตอนที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตี แต่ถูกส่งออกไปปฏิบัติภารกิจลำเลียงเครื่องบินรบไปประจำในหมู่เกาะแปซิฟิก เรือบรรทุกเครื่องบินเล็กซิงตันอยู่ระหว่างลำเลียงเครื่องบินรบไปส่งที่เกาะมิดเวย์ ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินเอนเตอร์ไพรส์พึ่งส่งเครื่องบินรบที่เกาะเวก กำลังอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ความจริงเอนเตอร์ไพรส์มีกำหนดกลับถึงเพิร์ล ฮาร์เบอร์วันที่ 6 ธันวาคม แต่กำหนดล่าช้าออกไปเป็นช่วงบ่ายของวันที่ 7 ธันวาคมเนื่องจากติดพายุ เท่ากับว่าเอนเตอร์ไพรส์มาถึงเพิร์ล ฮาร์เบอร์ หลังญี่ปุ่นถอนกำลังกลับไปแล้วพอดี เครื่องบินรบบางส่วนของเอนเตอร์ไพร์สที่ขึ้นบินล่วงหน้ากลับมาเพิร์ล ฮาร์เบอร์ก่อน มีโอกาสปะทะกับเครื่องบินรบของญี่ปุ่นด้วย

การที่ญี่ปุ่นไม่สามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯได้ เป็นเรื่องค้างคาใจพลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Admiral Isoroku Yamamoto) ผู้บัญชาการกองเรือผสมของญี่ปุ่นมาตลอด ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1942 สหรัฐฯส่งเครื่องบินรบจากเรือบรรทุกเครื่องบินเอนเตอร์ไพรส์และยอร์กทาวน์ (USS Yorktown CV-5) ไปโจมตีฐานทัพเรือของญี่ปุ่นในหมู่เกาะมาร์แชลล์ ต่อมาในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1942 สหรัฐฯใช้เรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ต (USS Hornet CV-8) ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 Mitchell จำนวน 16 ลำไปทิ้งระเบิดกรุงโตเกียวในปฏิบัติการดูลิตเติล ปฏิบัติการครั้งนี้มีผลทางจิตวิทยาต่อญี่ปุ่นมากเพราะการโจมตีเกิดขึ้นใกล้ตัวองค์จักรพรรดิมาก ญี่ปุ่นต้องหาทางล่อกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯออกมาทำลายให้ได้ นำไปสู่สมรภูมิมิดเวย์ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1942 แต่ตอนนั้นสหรัฐฯสามารถถอดรหัสบางส่วนของญี่ปุ่นได้แล้ว ซ้อนแผนของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ เครื่องบินรบอีก 248 ลำ และนักบินฝีมือดีจำนวนมาก เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามแปซิฟิก

จะเห็นได้ว่าความล้มเหลวของญี่ปุ่นในการจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯในเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ส่งผลให้สหรัฐฯมีสนามบินลอยน้ำไปโจมตีเกาะต่างๆของญี่ปุ่น จนถึงกรุงโตเกียว ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องทำศึกตัดสินกับสหรัฐฯอีกครั้งในสมรภูมิมิดเวย์ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม

สวัสดี

24.05.2020

แสดงความคิดเห็น