ถอดป้อมปืนรถถังไปทำบังเกอร์

ช่วงเวลาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงจนถึงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่รถถังมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ประกอบกับการแข่งขันสะสมอาวุธ ส่งผลให้มีรถถังที่ล้าสมัยแล้วถูกปลดประจำการจำนวนมากอย่างรวดเร็ว คำถามที่เกิดขึ้นคือรถถังที่ล้าสมัยหรือปลดประจำการแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อดี ?

ภาพป้อมปืนของรถถัง Panzer IV รุ่นเก่าของเยอรมัน ติดปืนใหญ่ 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้น ถูกนำมาทำเป็นบังเกอร์ที่หาดโอมาฮ่า ซึ่งทหารอเมริกันยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (Wikimedia Commons)

โดยปกติรถถังรุ่นเก่าที่ถูกปลดประจำการก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองมักจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนเป็นเศษเหล็กหรือนำไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รถถังที่ล้าสมัยแล้วมักจะถูกถอดป้อมปืนออก นำตัวรถไปดัดแปลงเป็นปืนใหญ่อัตตาจร แต่แล้วก็เกิดไอเดียใหม่ในการใช้งานรถถังรุ่นเก่า โดยเฉพาะป้อมปืนให้เป็นประโยชน์ โดยการนำไปทำเป็นบังเกอร์

แนวคิดนี้ริเริ่มโดยฝรั่งเศส เบลเยียม และสหภาพโซเวียตในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีการนำป้อมปืนของรถถังรุ่นเก่าที่ล้าสมัยปลดประจำการแล้ว เช่นรถถัง FT-17 Renault ของฝรั่งเศส, รถถังเบาตระกูล BT ของโซเวียต ฯลฯ ไปทำเป็นบังเกอร์เสริมการป้องกันของป้อมปราการต่างๆเช่นแนวมายิโนต์ของฝรั่งเศส และแนวสตาลินของโซเวียต

เมื่อเยอรมนีบุกเบลเยียม ฝรั่งเศส และโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันก็รับเอาแนวคิดนี้ไปใช้ต่อ มีการนำป้อมปืนของรถถังพันเซอร์รุ่นเก่าๆและป้อมปืนของรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดได้ไปทำเป็นบังเกอร์ในกำแพงแอตแลนติก ป้องกันชายฝั่งยุโรปตะวันตกจากการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตร

อย่างไรก็ตามบังเกอร์ป้อมปืนรถถังเหล่านี้มีข้อเสียคือไม่สามารถต่อกรกับรถถังรุ่นใหม่ๆได้ เนื่องจากเทคโนโลยีรถถังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปกติโอกาสเดียวที่รถถังรุ่นเก่าจะทำลายรถถังรุ่นใหม่กว่าได้ คือต้องเคลื่อนที่เข้าไปยิงใส่จากด้านข้างหรือด้านหลังซึ่งมีเกราะบางในระยะประชิด แต่ป้อมปืนรถถังเหล่านี้ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ เมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามตรวจพบก็กลายเป็นเป้านิ่ง ถูกทำลายได้จากระยะไกล

จากข้อจำกัดเรื่องอำนาจการยิงของป้อมปืนรถถังรุ่นเก่า ในช่วงปลายสงครามเยอรมนีจึงตัดสินใจนำป้อมปืนของรถถัง Panzer V Panther มาทำบังเกอร์เรียกว่า Pantherturm สาเหตุที่เลือกรถถังรุ่นนี้เพราะเยอรมนีผลิตป้อมปืนของรถถัง Panther ได้เร็วกว่าตัวรถ พูดง่ายๆคือมีป้อมปืนเหลือใช้ นอกจากนี้ปืนใหญ่ 75 มิลลิเมตรลำกล้องยาวของ Panther ยังสามารถเจาะเกราะรถถังเกือบทุกรุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรได้จากระยะไกล แต่ก็ยังมีจุดอ่อนคือไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ส่งผลให้ทหารราบฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้าประชิดและทำลาย Pantherturm ได้จากด้านข้างหรือด้านหลังซึ่งมีเกราะบาง กองทัพเยอรมันใช้งาน Pantherturm ในยุโรปตะวันตกและอิตาลีเป็นหลัก แต่ก็มีบางส่วนถูกใช้งานในแนวรบด้านตะวันออก จนถึงสมรภูมิเบอร์ลิน

สวัสดี

24.05.2020

ภาพนายทหารเยอรมันตรวจเยี่ยมบังเกอร์ป้อมปืนรถถัง Panther หรือ Pantherturm ในอิตาลี เดือนมิถุนายน ปี 1944
(Bundesarchiv, Bild 101I-587-2267-24 / Wahner / CC-BY-SA 3.0)

แสดงความคิดเห็น