การเมืองภายในกองทัพเรือญี่ปุ่นจากหนัง The Great War of Archimedes (มีสปอย)

โปสเตอร์หนัง Archimedes no Taisen หรือ The Great War of Archimedes

*** บทความนี้มีสปอยเนื้อเรื่องในหนัง ***

เมื่อหลายเดือนก่อนผมได้ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินก็มีโอกาสดูหนังอิงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองเรื่องหนึ่ง ที่แปลกกว่าเรื่องอื่นๆ คือแทบไม่มีฉากสู้รบเลย นอกจากฉากเปิดเรื่องที่เป็นฉากเรือประจัญบานยามาโตะ (Yamato) ของญี่ปุ่นถูกรุมโจมตีจากเครื่องบินรบของสหรัฐฯจนจมลง ระหว่างทางไปเกาะโอกินาวาในปี ค.ศ.1945 หลังจากนั้นหนังก็ย้อนกลับไปเล่าเรื่องการเมืองภายในกองทัพเรือญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า Archimedes no Taisen หรือ The Great War of Archimedes เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

เนื้อเรื่องของหนัง The Great War of Archimedes ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูน โฟกัสที่ประเด็นว่ากองทัพเรือญี่ปุ่นจะจัดหาเรือรบชนิดไหนมาทดแทนเรือประจัญบานคองโก (Kongo) ดี พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Isoroku Yamamoto) เชื่อว่าเครื่องบินรบจะเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะในสงคราม จึงเสนอให้ต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่นายทหารอีกฝั่งต้องการให้ต่อเรือประจัญบานขนาดใหญ่ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ก็ดูเหมือนจะเห็นดีเห็นงามด้วยเมื่อได้เห็นแบบจำลองเรือประจัญบานรุ่นใหม่ และตัวเลขประเมินงบประมาณในการต่อเรือซึ่งต่ำมาก แม้การประชุมจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ยามาโมโตะก็ทำใจแล้วว่าอย่างไรเสียผู้หลักผู้ใหญ่ก็คงเลือกต่อเรือประจัญบานแน่นอน แต่แล้วเขาก็เห็นพิรุธในตัวเลขงบประมาณต่อเรือประจัญบานที่ต่ำเกินจริง จึงไปเชิญนักคณิตศาสตร์หนุ่มชื่อทาดาชิ คาอิ (Tadashi Kai) มาตรวจสอบ หาวิธีคำนวณงบประมาณในการต่อเรือที่แท้จริงเพื่อนำไปหักล้างฝ่ายตรงข้าม ช่วงแรกคาอิไม่สนใจทำงานกับกองทัพ ยามาโมโตะหว่านล้อมว่าถ้าคาอิไม่มีช่วยหยุดการต่อเรือประจัญบาน ญี่ปุ่นก็จะนำเรือลำนี้ไปทำสงคราม คาอิจึงยอมมาช่วยงาน แม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับ แต่คาอิก็สามารถคิดค้นสูตรคำนวณงบประมาณในการต่อเรือเทียบกับมูลค่าวัสดุที่ใช้ได้สำเร็จ พิสูจน์ให้เห็นว่างบประมาณในการต่อเรือประจัญบานที่เสนอขึ้นมานั้นต่ำเกินจริง รวมถึงมีช่องโหว่ในแบบแปลนเรือด้วย เรือบรรทุกเครื่องบินของยามาโมโตะจึงได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตามนายทหารที่เสนอให้ต่อเรือประจัญบานนั้นได้มาติดต่อคาอิในภายหลัง ขอใช้แบบแปลนเรือประจัญบานที่คาอิเขียนขึ้นระหว่างหาข้อมูลในการต่อเรือ ตอนแรกคาอิไม่ยอม บอกว่าถ้าต่อเรือประจัญบานดังกล่าวออกมาจะเกิดสงคราม แต่อีกฝ่ายตอบกลับมาว่าสถานการณ์ในตอนนั้นอย่างไรก็หลีกเลี่ยงสงครามไม่ได้แล้ว ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีเรือประจัญบานขนาดใหญ่น่าเกรงขามเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น จากนั้นเมื่อเรือประจัญบานลำดังกล่าวจมลง ญี่ปุ่นก็คงจะเลิกฝักใฝ่สงครามไปพร้อมกันด้วย ได้ยินดังนี้คาอิจึงยอมให้แบบแปลนไปใช้ต่อเรือประจัญบาน ซึ่งก็คือยามาโตะนั่นเอง

แม้เนื้อเรื่องในหนัง The Great War of Archimedes จะเป็นเรื่องสมมติ แต่หนังก็สามารถถ่ายทอดเกมการเมืองภายในกองทัพเรือญี่ปุ่นในสมัยนั้นออกมาได้อย่างน่าสนใจ ทั้งทัศนคติของผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพที่ยังยึดติดกับเรือประจัญบานในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แสดงเกียรติและศักดิ์ศรีของกองทัพ การบิดเบือนตัวเลขงบประมาณเอื้อผลประโยชน์ให้อู่ต่อเรือ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผมคิดว่าหนัง The Great War of Archimedes มีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนไม่ค่อยพูดถึงกันคือ การใช้เจตนาที่ดีของคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สังเกตว่าในเรื่อง คาอิไม่ต้องการทำงานเกี่ยวข้องกับทหาร จนกระทั่งยามาโมโตะหว่านล้อมว่าถ้าคาอิไม่มาช่วยหยุดการต่อเรือประจัญบาน ก็จะเกิดสงคราม ดูผิวเผินเหมือนยามาโมโตะไม่เห็นด้วยกับการต่อเรือรบ แต่ความจริงแล้วยามาโมโตะมีผลประโยชน์แอบแฝง ต้องการหยุดการต่อเรือประจัญบาน เพื่อให้กองทัพหันมาต่อเรือบรรทุกเครื่องบินที่ตนเสนอแทน ซึ่งภายหลังเรือบรรทุกเครื่องบินก็ถูกนำไปใช้ทำสงครามไม่ต่างจากเรือประจัญบาน ซึ่งคาอิไม่รู้จุดประสงค์ข้อนี้ คิดแค่ว่าถ้าหยุดการต่อเรือประจัญบานได้ ก็จะไม่เกิดสงคราม เรื่องนี้สามารถเทียบเคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

สวัสดี

25.05.2020

ฉากจบของหนัง พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ ขึ้นเรือประจัญบานยามาโตะ

2 Comments on “การเมืองภายในกองทัพเรือญี่ปุ่นจากหนัง The Great War of Archimedes (มีสปอย)”

  1. ผมคิดว่ารูปสุดท้ายไม่ใช่ยามาโตะนะครับเพราะทางการบเรือมีปืนรองแบบที่ติดถัดจากปืนใหญ่ ดังนั้นมันน่าจะเป็นมุซาชิ

แสดงความคิดเห็น