แวร์เดิง : สมรภูมิที่ยาวนานที่สุดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

แนวรบด้านตะวันตก (บริเวณภาคเหนือของฝรั่งเศสและเบลเยียม) ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีลักษณะเป็นสงครามสนามเพลาะ หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้ในสมรภูมิที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ 1 (First Battle of the Marne) ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1914 ส่งผลให้แผนชลีฟเฟน (Schlieffen Plan) ที่จะยึดกรุงปารีสและเผด็จศึกให้ได้อย่างรวดเร็วล้มเหลวลง คู่สงครามทั้งสองฝ่ายต่างเร่งขุดแนวสนามเพลาะตั้งแต่ชายแดนติดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขนานกันไปถึงชายฝั่งทะเลเหนือ ส่งผลให้แนวรบตรึงอยู่กับที่ ไม่ขยับไปไหน ต่างฝ่ายต่างหาวิธีฝ่าแนวรบอีกฝ่าย ซึ่งล้วนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตทหารจำนวนมากโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร

ภาพทหารฝรั่งเศสในสนามเพลาะสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (Library of Congress)

ในปี ค.ศ.1916 นายพลเอริช ฟอน ฟอลเกนไฮน์ (Erich von Falkenhayn) ของเยอรมนีตัดสินใจโจมตีป้อมปราการของฝรั่งเศสรอบเมืองแวร์เดิง (Verdun) หรือภาษาอังกฤษออกเสียงว่าเวอร์ดัน จุดประสงค์ของฟอลเกนไฮน์ที่เลือกเปิดศึกที่แวร์เดิงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าฟอลเกนไฮน์ต้องการเอาชนะฝรั่งเศสด้วยการรบแบบทอนกำลัง (Attrition Warfare) กล่าวคือทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มกำลังทหารเข้าสู่สมรภูมิ บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากทั้งสองฝ่าย จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่เหลือทหารให้ส่งเข้าสมรภูมิอีก กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป แต่บางคนก็แย้งว่าเรื่องการรบแบบทอนกำลังนี้ฟอลเกนไฮน์พึ่งแต่งเติมขึ้นมาหลังสงคราม จริงๆแล้วเป้าหมายของเยอรมันต้องการบุกยึดกรุงปารีสผ่านทางแวร์เดิง ซึ่งฝรั่งเศสประมาท คิดว่าเป็นป้อมปราการที่อีกฝ่ายไม่สามารถบุกฝ่าไปได้

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1916 เยอรมันใช้ปืนใหญ่ 1,220 กระบอก ระดมยิงถล่มแนวรบของฝรั่งเศสรอบแวร์เดิง ติดต่อกันนาน 10 ชั่วโมง ใช้กระสุนปืนใหญ่ 1,000,000 ลูก (หนึ่งล้านลูก) จากนั้นทหารราบเยอรมันก็ขึ้นจากสนามเพลาะบุกโจมตีป้อมปราการต่างๆของฝรั่งเศส ในสมรภูมิครั้งนี้ทหารเยอรมันมีการนำปืนพ่นไฟ (Flamethrower) ออกมาใช้งานเป็นครั้งแรก ทหารเยอรมันสามารถยึดป้อมดูโอดง (Fort Douaumont) ได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และป้อมโว (Fort Vaux) ในเดือนมิถุนายนหลังการสู้รบดุเดือด การรุกของเยอรมันค่อยๆหยุดชะงักลง เมื่อฝรั่งเศสทุ่มเทกำลังพลจำนวนมากมาเสริมที่แวร์เดิง นายพลฟิลิป เปแตง (Philippe Petain) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสที่แวร์เดิงในเดือนเมษายน ค.ศ.1916 ออกคำสั่งทหารฝรั่งเศสห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียวและให้โจมตีตอบโต้ทหารเยอรมัน เกิดสโลแกน “พวกมันจะไม่สามารถผ่านไปได้” (On ne passe pas – They shall not pass) ซึ่งต่อมาเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียน เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ซึ่งเคยเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขียนเรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) ฉากที่พ่อมดแกนดัลฟ์ต่อสู้กับอสูรบัลร็อกในเหมืองมอเรียแล้วกล่าวว่า “เจ้าผ่านไม่ได้” (You shall not pass)

แนวรบที่แวร์เดิงเริ่มกลับมาตรึงแน่นอยู่กับที่ เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1916 กองทัพอังกฤษเปิดฉากการรุกในสมรภูมิลุ่มแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme) เพื่อช่วยฝรั่งเศสดึงความสนใจของเยอรมันออกจากแวร์เดิง เยอรมันยกเลิกแผนการรุกที่แวร์เดิงในวันที่ 14 กรกฎาคม นายพลฟอนเกนไฮน์ถูกปลดจากตำแหน่ง แต่การรบที่แวร์เดิงยังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตามกำลังเสริมของเยอรมันค่อยๆถูกดึงออกไปที่สมรภูมิลุ่มแม่น้ำซอมม์ ส่งผลให้ฝรั่งเศสเริ่มมีโอกาสพักหายใจ

ฝรั่งเศสเปิดฉากตีโต้ครั้งใหญ่ที่แวร์เดิง ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1916 สามารถยึดป้อมดูโอมงและป้อมโวกลับมาได้ ก่อนที่การรุกจะค่อยๆหยุดชะงักลงช่วงกลางเดือนธันวาคม สงครามสนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีฝ่ายไหนมีชัยชนะเด็ดขาด

สมรภูมิแวร์เดิงเป็นสมรภูมิที่ยาวนานที่สุดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่นองเลือดที่สุดจนได้ฉายาว่าเครื่องบดเนื้อ (meat grinder) ตลอดระยะเวลา 303 วัน มีการประมาณกันว่าคู่สงครามทั้งสองฝ่ายทำการยิงกระสุนปืนใหญ่ไปประมาณ 40 – 60 ล้านลูก เมืองแวร์เดิงเหลือเพียงซากปรักหักพัง ขณะที่เมืองเล็กๆอีกเก้าแห่งที่อยู่โดยรอบถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง ฝรั่งเศสสูญเสียทหารทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตไป 400,000 นาย ขณะที่ฝั่งเยอรมันก็เสียทหารทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตไป 350,000 นาย โดยถ้านับเฉพาะจำนวนทหารที่เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายจะมีรวมกันมากกว่า 300,000 นาย ทั้งนี้ความสูญเสียมากกว่า 70% เกิดจากปืนใหญ่

สวัสดี

28.05.2020

ภาพซากปืนใหญ่ของฝรั่งเศสในสมรภูมิแวร์เดิง จากโปสการ์ดของเยอรมัน (public domain)
มิวสิควิดีโอเพลง Fields of Verdun โดยวง Sabaton

แสดงความคิดเห็น