
(US Africa Command)
ช่วงหลายวันที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาว่ารัสเซียได้ส่งเครื่องบินรบไปเสริมกำลังให้กองทัพแห่งชาติลิเบีย (Libyan National Army – LNA) ซึ่งรัสเซีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และฝรั่งเศสให้การสนับสนุนอยู่ หลังพลาดท่าถูกฝ่ายรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ (Government of National Accord – GNA) ที่กรุงตริโปลี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตุรกีและกาตาร์ ยึดฐานทัพอากาศ Al-Watiya ทางใต้ของกรุงตริโปลีคืนไปได้ รวมถึงสูญเสียระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ซึ่ง UAE ส่งมาให้ไปหลายระบบ
สำหรับตัวเลขจำนวนเครื่องบินรบที่รัสเซียส่งให้ LNA ยังไม่ชัดเจนครับ ตอนแรกฝ่าย GNA อ้างว่ารัสเซียส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 จำนวน 6 ลำและเครื่องบินโจมตี Su-24 จำนวน 2 ลำ ขึ้นบินจากฐานทัพอากาศ Hmeymim ในซีเรียมาลงที่ภาคตะวันออกของลิเบีย แต่หลังจากนั้นสหรัฐฯก็เปิดเผยว่ารัสเซียส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 และเครื่องบินโจมตี Su-24 รวมกันอย่างน้อย 14 ลำ แต่ข้อมูลเส้นทางบินตรงกันครับว่าเครื่องบินรบของรัสเซียบินมาจากฐานทัพอากาศในซีเรีย มาลงที่โตบรูคภาคตะวันออกของลิเบีย ก่อนจะบินต่อไปที่ฐานทัพอากาศจูฟรา ตอนกลางของลิเบีย โดยเครื่องบินรบทั้งหมดได้รับการทาสีใหม่ในซีเรีย ลบเครื่องหมายของกองทัพอากาศรัสเซียออก สหรัฐฯวิจารณ์รัสเซียว่าใช้วิธีการเดียวกับที่ยูเครนและซีเรีย อย่างไรก็ตามฝั่งรัสเซียและ LNA ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง
https://www.voanews.com/middle-east/us-general-russia-using-same-playbook-libya-ukraine-syria
https://www.dw.com/en/russia-expands-war-presence-in-libya/a-53623666
https://www.aljazeera.com/news/2020/05/russia-flew-14-mig-29s-su-24s-libya-army-200527200442656.html
https://www.rt.com/news/489838-moscow-denies-africom-planes-libya/
ล่าสุดมีการเปิดเผยภาพถ่ายเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ขณะอยู่ที่ฐานทัพอากาศ Hmeymim ของรัสเซียในซีเรีย ได้รับการทาสีใหม่ ลบเครื่องหมายต่างๆบนเครื่องบินออก อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลยืนยันแน่นอนว่าภาพถ่ายดังกล่าวถ่ายไว้เมื่อวันที่เท่าไหร่
ปัจจุบันกำลังทางอากาศถือว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) ในสงครามลิเบียเลย เนื่องจากก่อนหน้านี้กำลังทางอากาศของลิเบียถูกทำลายไปเกือบหมด เมื่อ NATO เข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองลิเบีย สนับสนุนกลุ่มกบฏโค่นล้มพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ (Muammar al-Gaddafi) เมื่อปี 2011 เหลือเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าๆเช่น MiG-21 และ MiG-23 อยู่ไม่กี่ลำ แถมนักบินและอะไหล่ก็ขาดแคลน ช่วงแรกๆฝ่าย GNA และ LNA จึงปฏิบัติการทางอากาศได้ค่อนข้างจำกัด ไม่ส่งผลต่อการรบโดยรวมมากนัก อย่างไรก็ตามประเทศผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายเริ่มส่งกำลังทางอากาศเข้ามาในลิเบียมากขึ้น ตุรกีส่งโดรน Bayraktar TB2 ที่ผลิตเองและระบบป้องกันภัยทางอากาศ Hawk ผลิตในสหรัฐฯมาสนับสนุนฝ่าย GNA ขณะที่ UAE ส่งโดรน Wing Loong ผลิตในจีนและระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ผลิตในรัสเซียมาสนับสนุนฝ่าย LNA กำลังทางอากาศเริ่มกลายเป็นตัวตัดสินผลการรบ แม้ทั้งสองฝ่ายจะสูญเสียโดรนไปจำนวนมาก แต่ฝ่าย GNA ได้เปรียบตรงที่ตุรกีเป็นผู้ผลิตโดรน Bayraktar TB2 เมื่อถูกยิงตกก็สามารถผลิตใหม่ส่งมาทดแทนได้ทันที ในขณะที่โดรน Wing Loong ซึ่ง UAE ส่งมานั้นต้องสั่งซื้อจากจีน ที่สำคัญคือที่ตั้งฐานบินโดรน Bayraktar TB2 ของตุรกีอยู่ในกรุงตริโปลี ใกล้แนวหน้ามากกว่าด้วย เมื่อเวลาผ่านไปกำลังทางอากาศของ GNA และตุรกีก็เริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบ เมื่อใช้งานร่วมกับระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุดก็สามารถทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ของฝ่าย LNA ที่ UAE ส่งมาได้หลายระบบ ยึดฐานทัพอากาศ Al-Watiya ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคืนไปได้ ส่งผลให้ฝ่าย LNA ต้องถอยร่น เพราะไม่สามารถป้องกันตัวจากการโจมตีทางอากาศได้
ถ้ารัสเซียส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 และเครื่องบินโจมตี Su-24 มาที่ลิเบียจริง ก็น่าจะส่งผลต่อดุลอำนาจทางอากาศพอสมควร เนื่องจากปัจจุบันเครื่องบินรบยังมีความคล่องตัวมากกว่าโดรน ภารกิจของเครื่องบินขับไล่ MiG-29 น่าจะเป็นการไล่ล่าโดรนโดยเฉพาะ ขณะที่เครื่องบินโจมตี Su-24 ให้การสนับสนุนฝ่าย LNA ทางภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตามเครื่องบินรบก็ยังมีจุดอ่อนขณะกำลังขึ้นบินและลงจอด ไม่ต้องพูดถึงตอนที่จอดอยู่ในสนามบินด้วย เป็นช่องว่างให้โดรนสามารถโจมตีได้ ประเด็นถัดไปที่ต้องติดตามก็คือเรื่องระบบป้องกันภัยทางอากาศที่จะมาป้องกันฐานทัพอากาศจูฟรา ว่า LNA จะยังใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 เท่าที่เหลือ หรือจะมีผู้สนับสนุนระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่มาเพิ่ม
สวัสดี
30.05.2020
หมายเหตุ: ในกรณีที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์สั่งซื้อสินค้าจาก Amazon ผ่าน Affiliate Link ที่ปรากฏด้านล่าง ผมจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการขายด้วย โดยผู้เข้าชมเว็บไซต์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด