รถถังญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับคนส่วนใหญ่ รถถังญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีประสิทธิภาพแย่มาก ด้อยกว่ารถถังอิตาลีเสียอีก เนื่องจากรถถังญี่ปุ่นไม่สามารถต่อกรกับรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เลย ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักรถถังรุ่นหลักๆของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองกัน ดูว่ารถถังญี่ปุ่นมีพัฒนาการอย่างไร พัฒนาขึ้นมาสำหรับภารกิจอะไร เหตุใดจึงสู้รถถังฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้

รถถังกลาง Type-89 I-Go (Chi-ro )

ภาพรถถังกลาง Type-89 I-Go ของญี่ปุ่น (Megapixie/Wikimedia Commons/ Public Domain)

กองทัพญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจรถถังในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการจัดหารถถังจากอังกฤษและฝรั่งเศสมาศึกษา ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเริ่มออกแบบและพัฒนารถถังของตัวเอง รถถังรุ่นแรกของญี่ปุ่นมีชื่อว่า Type-87 Chi-I ซึ่งไม่ได้เข้าประจำการเนื่องจากมีน้ำหนักมากเกินไปและความเร็วต่ำ รถถังรุ่นแรกทีไ่ด้เข้าประจำการจึงเป็นรถถังกลาง Type-89 I-Go ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 57 มิลลิเมตร ผลิตออกมา 404 คัน เข้าสู่สมรภูมิครั้งแรกในแมนจูเรียและจีนช่วงทศวรรษ 1930 มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารถถัง Vickers และ Panzer I ที่จีนจัดหาจากอังกฤษและเยอรมนี แต่ยังมีจุดอ่อนคือเกราะบางและความเร็วต่ำ อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1939 ระหว่างการปะทะกับสหภาพโซเวียตในสมรภูมิฮาลฮิน โกล (Khalkhin Gol) ญี่ปุ่นก็พบว่ารถถังรุ่นนี้ล้าสมัยแล้วเมื่อเผชิญหน้ากับรถถังเบาตระกูล BT ของโซเวียต แม้ญี่ปุ่นจะยังใช้งานรถถัง Type-89 I-Go อยู่ในช่วงแรกๆของสงครามแปซิฟิก ในฟิลิปปินส์ มลายา และพม่า แต่ญี่ปุ่นก็ค่อยๆทยอยปลดประจำการรถถังรุ่นนี้ไปในปี ค.ศ.1942

รถถังเบา Type-95 Ha-Go

ภาพรถถังเบา Type-95 Ha-Go ของญี่ปุ่นที่พิพิธภัณฑ์รถถังคูบินกา ประเทศรัสเซีย (Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

จากจุดอ่อนของรถถังกลาง Type-89 I-Go ที่มีความเร็วต่ำ ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องพัฒนารถถังเบาที่มีความเร็วสูงขึ้น รถถังเบา Type-95 Ha-Go เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1936 เป็นรถถังญี่ปุ่นที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สองประมาณ 2,300 คัน รถถัง Type-95 Ha-Go ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรสำหรับสนับสนุนทหารราบ มีความเร็วสูงสุด 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีน้ำหนักเพียง 7 ตัน เหมาะสำหรับใช้ในภูมิประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก แต่มีจุดอ่อนคือเกราะบางมาก ป้องกันได้เพียงกระสุนปืนเล็กยาวเท่านั้น

เช่นเดียวกับรถถังรุ่นก่อนหน้า รถถัง Type-95 Ha-Go ประสบความสำเร็จมากระหว่างการรบในจีน แต่มาเริ่มเสียศูนย์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรถถังเบาตระกูล BT ของโซเวียตในสมรภูมิฮาลฮิน โกลซึ่งติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 45 มิลลิเมตรมีระยะยิงหวังผลไกลกว่า และในแปซิฟิกกับรถถังเบา M3 Stuart ของสหรัฐฯที่แม้จะติดปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรเหมือนกัน แต่รถถังสหรัฐฯมีเกราะหนากว่ารถถัง Type-95 Ha-Go มาก ภายหลังเมื่อสหรัฐฯเริ่มนำรถถังกลาง M4 Sherman มาใช้งานก็เท่ากับตอกฝาโลงรถถังเบา Type-95 Ha-Go เลย

ประเทศไทยได้จัดหารถถัง Type-95 Ha-Go มาใช้งานประมาณ 50 คันในปี ค.ศ.1940 ระหว่างสงครามอินโดจีน มีชื่อเรียกว่ารถถังเบาแบบ 83 (พ.ศ.2483) ปลดประจำการไปในปี ค.ศ.1952 ปัจจุบันยังมีรถถัง Type-95 Ha-Go ที่ยังใช้งานได้อยู่ที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี

รถถังกลาง Type-97 Chi-Ha

ภาพรถถังกลาง Type-97 Chi-Ha ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 57 มิลลิเมตร ของญี่ปุ่นตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์มหาสงครามรักชาติที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย (Alan Wilson/ Flickr)

รถถังกลาง Type-97 Chi-Ha พัฒนาขึ้นมาทดแทนรถถัง Type-89 I-Go เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1938 ญี่ปุ่นผลิตรถถังรุ่นนี้ออกมาจำนวน 1,162 คัน มากที่สุดอันดับสองรองจากรถถัง Type-95 Ha-Go รถถัง Type-97 Chi-Ha ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 57 มิลลิเมตรสำหรับสนับสนุนทหารราบ ออกรบครั้งแรกในจีนและการปะทะบริเวณชายแดนโซเวียต ในสมรภูมิฮาลฮิน โกลปี ค.ศ.1939 ญี่ปุ่นพบวาปืนใหญ่ขนาด 57 มิลลิเมตรไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการต่อสู้กับรถถังเบา BT-5 และ BT-7 ของโซเวียตซึ่งติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 45 มิลลิเมตร จึงมีการพัฒนารถถังรุ่น Type-97 Shinhoto Chi-Ha ขึ้นมา

ชื่อรถถัง Type-97 Chi-Ha ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อโรงเรียน Chi-Ha-Tan ในอนิเมะเรื่อง Girls und Panzer

รถถังกลาง Type-97 Shinhoto Chi-Ha

ภาพรถถังกลาง Type-97 Shinhoto Chi-Ha ติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 47 มิลลิเมตร ของญี่ปุ่น (Andrey Korchagin/ Flickr)

เมื่อญี่ปุ่นเห็นว่าปืนใหญ่ขนาด 57 มิลลิเมตรของรถถัง Type-97 Chi-Ha ไม่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้รถถังเพียงพอ จึงมีการพัฒนารถถัง Type-97 Shinhoto Chi-Ha หรือ Type-97 Kai ขึ้นมา เปลี่ยนป้อมปืนใหม่ ติดอาวุธปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 47 มิลลิเมตร เข้าสู่สายการผลิตระหว่างปี ค.ศ.1942 – 1943 ผลิตออกมา 930 คัน สามารถต่อกรกับรถถังเบา M3 Stuart ของสหรัฐฯได้อย่างสบาย แต่เทียบไม่ได้กับรถถังกลาง M4 Sherman รถถังญี่ปุ่นต้องยิงใส่รถถัง M4 Sherman จากด้านข้างหรือด้านหลังเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสทำลายรถถัง M4 Sherman ได้ ภายหลังญี่ปุ่นได้พัฒนารถถังกลาง Type-1 Chi-He ขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง ขยายขนาดจาก Type-97 Shinhoto Chi-Ha ขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังเทียบกับรถถัง M4 Sherman ไม่ได้อยู่ดี

รถถังกลาง Type-3 Chi-Nu

ภาพรถถังกลาง Type-3 Chi-Nu ของญี่ปุ่น (Megapixie/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มทำสงครามแปซิฟิก ทรัพยากรที่ญี่ปุ่นมีอยู่จำกัดส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปใช้ต่อเรือรบและผลิตเครื่องบินรบเป็นหลัก เหลือทรัพยากรสำหรับการพัฒนารถถังรุ่นใหม่น้อยมากโดยเฉพาะในช่วงกลางถึงปลายสงคราม รถถังรุ่นใหม่ๆของญี่ปุ่นที่ถูกพัฒนาออกมาในช่วงนี้เกือบทั้งหมดจึงมีเพียงรถต้นแบบจำนวนไม่กี่คันเท่านั้น มีเพียงรถถังกลาง Type-3 Chi-Nu ที่ได้เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1944 ผลิตออกมาประมาณ 144 – 166 คัน ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร สามารถเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง M4 Sherman ของสหรัฐฯได้ที่ระยะ 100 เมตร อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นตัดสินใจจะใช้รถถัง Type-3 Chi-Nu ในการป้องกันเกาะใหญ่ของญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ได้ส่งออกไปรบตามหมู่เกาะต่างๆ เมื่อสหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิบีบให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ แทนที่จะยกพลขึ้นบก รถถัง Type-3 Chi-Nu จึงไม่มีโอกาสเข้าสู่สมรภูมิจริงแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่ารถถังญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับต่อสู้รถถังด้วยกันตั้งแต่ต้น แต่เน้นใช้ในภารกิจสนับสนุนทหารราบเป็นหลัก ซึ่งรถถังญี่ปุ่นก็สามารถทำหน้าที่ตามที่ออกแบบมาได้เป็นอย่างดีในจีน และบางสมรภูมิในเอเชียแปซิฟิกซึ่งฝ่ายตรงข้ามไม่มีรถถังหรือมีรถถังที่ล้าสมัยกว่าของญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเผชิญหน้ากับรถถังรุ่นใหม่ๆของสหรัฐฯ แล้วมีความจำเป็นต้องพัฒนารถถังรุ่นใหม่ ถึงตอนนั้นก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว เนื่องจากญี่ปุ่นมีทรัพยากรจำกัด ต้องนำไปใช้ต่อเรือรบและผลิตเครื่องบินรบที่มีความจำเป็นมากกว่า รถถังรุ่นใหม่ๆของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีเพียงรถต้นแบบผลิตออกมาไม่กี่คัน เก็บไว้ใช้ป้องกันเกาะใหญ่ของญี่ปุ่น ไม่มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในสนามรบจริง

สวัสดี

04.06.2020

แสดงความคิดเห็น