คิดให้รอบคอบ ถ้ารัฐบาลจะทำ Thaiflix แข่งกับ Netflix

ผมพึ่งเห็นข่าวว่านายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแนวคิดจะสร้างแพลตฟอร์มของไทยแข่งกับของต่างประเทศ เพื่อขายคอนเทนต์ของคนไทย และป้องกันเม็ดเงินไหลออกต่างประเทศ ยกตัวอย่างว่าอาจจะทำ Thaiflix แข่งกับ Netflix โดยดึงภาคเอกชนมาร่วมมือกันทำคอนเทนต์แล้วรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เลยจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้สัก … ไม่เล็กน้อยละครับ ยาวเลย

Photo by Pinho . on Unsplash

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าผมเห็นด้วยกับการพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอนจิน สตรีมมิง ฯลฯ แต่ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและคิดให้รอบคอบก่อนจะสร้างแพลตฟอร์มอะไรก็ตาม เริ่มจากวัตถุประสงค์ก่อนเลย ถ้าจะทำแพลตฟอร์มเพื่อแสดง “ความเป็นไทย” อย่างเดียวนี่ ผมบอกเลยว่าอย่าทำ แพ้เขาตั้งแต่ในมุ้งแล้ว ถ้าจะลงทุนทำแพลตฟอร์มแล้ว ขอให้ทำระดับสากล แข่งกับต่างประเทศในตลาดโลกไปเลย

สำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคอนเทนต์ Netflix ได้เปรียบมาก เพราะเคยผูกขาดตลาดมาหลายปี ก่อนหน้านี้ค่ายหนังละครต่างๆล้วนสตรีมผ่าน Netflix ส่งผลให้นอกจาก Netflix จะสะสมเงินทุนได้มาก สามารถทยอยสร้างคอนเทนต์ออริจินัลของตัวเองสะสมไว้อย่างสบายแล้ว ยังมีข้อมูลตลาดในมือด้วยว่าคนดูนิยมคอนเทนต์แบบไหน ในขณะที่แพลตฟอร์มเปิดใหม่ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยกินบุญเก่าจากหนังหรือละครเก่าๆที่ถอดออกจาก Netflix กลับมา ยังไม่มีคอนเทนต์ออริจินัลพอจะแข่งกับ Netflix ถ้าไทยจะทำสตรีมมิงบ้างก็ต้องคิดเรื่องคอนเทนต์ก่อนเลย ว่าจะสร้างคอนเทนต์ออริจินัลที่หลากหลายและมีคุณภาพออกมาให้ต่อเนื่องได้อย่างไร จะอาศัยบุญเก่าเหมือน Disney ไม่ได้ เพราะถึงแม้หนังหรือละครไทยหลายเรื่องจะมีคุณภาพก็จริง แต่กลุ่มคนดูมีจำกัด และหนังหรือละครไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีคุณภาพดีจนต้องดูซ้ำหลายๆรอบ ดังนั้นเรื่องคอนเทนต์ออริจินัลสำหรับสตรีมมิงไทย (ซึ่งไม่ควรใช้ชื่อ Thaiflix ควรใช้ชื่อที่เป็นสากลและเป็นชื่อเฉพาะตัวไปเลย) ควรมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

แล้วจะหาคอนเทนต์ออริจินัลมาจากไหน ? อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าไหนๆจะทำแพลตฟอร์มแข่งกับต่างชาติแล้ว ก็ควรทำให้เป็นสากล ไม่ใช่แค่โชว์ความเป็นไทยอย่างเดียว ควรมีคอนเทนต์หลากหลายแนวทั้งจากค่ายหนังละครไทยและต่างชาติ เพื่อเจาะตลาดที่หลากหลาย สำหรับหนังละครไทยอาจหามาลงได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องควบคุมคุณภาพให้ดี โครงการสร้างหนังประวัติศาสตร์ที่นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยมอบหมายกระทรวงวัฒนธรรมไว้ก็สามารถนำมาลงในสตรีมมิงนี้ด้วยก็ได้ แต่คอนเทนต์จากต่างชาตินี่อาจเป็นปัญหาอยู่ เพราะต้องหาทางจูงใจให้เขาเลือกนำหนังละครของเขามาลงแพลตฟอร์มไทย แทนที่จะไปลง Netflix หรืออื่นๆ ผมขอเสนอ 2 แนวทางเผื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปรับใช้

1.แทนที่จะทำแพลตฟอร์มเฉพาะของประเทศไทย ลองเปลี่ยนเป็นร่วมมือกับประเทศอื่นๆที่ต้องการแข่งขันกับ Netflix เช่นกันอย่างน้อย 2 – 3 ประเทศ มาร่วมกันสร้างแพลตฟอร์ม นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยหาคอนเทนต์และเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

2.ลงทุนปั้นผู้สร้างคอนเทนต์ต่างชาติเองตั้งแต่ต้น อาจจะไปสำรวจหาทีมงานหนังสั้นใน Youtube หรือเว็บ GoFundMe ที่มีฝีมือคุณภาพดี มาให้การสนับสนุนสร้างผลงานลงแพลตฟอร์มสตรีมมิงของไทย

หลังจากมีคอนเทนต์ออริจินัลคุณภาพดีลงแพลตฟอร์มแล้ว ต่อไปก็ต้องโปรโมท ต้องยอมรับว่าไทยไม่ได้มีสื่อหรือโซเชียลมีเดียระดับโลกคอยปั่นกระแส ถ้าจะโปรโมทอะไร ต้องลงทุนลงแรงเอง หาทางยัดเยียดให้คนมาดูคอนเทนต์ของเราให้ได้ ไม่ใช่ทำตามตำรา เพราะถ้าแถลงข่าวเสร็จแล้วหวังว่าสื่อจะไปโปรโมทให้ ถ้าเขามีพระคุณอย่างสูงจริงๆ เดี๋ยวเขาก็เอาไปลงข่าวเป็น breaking news ผ่านไปอย่างรวดเร็ว สุดท้ายก็ไม่มีใครมาดู ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมทีมงานประชาสัมพันธ์ฝีมือดีไว้ให้พร้อม มีงบประมาณสนับสนุน ใช้งานบลอกเกอร์ ยูทูปเบอร์ ฯลฯ ชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศโหมกระแส ใช้สโลแกน แฮชแท็ก ฯลฯ เครื่องมือการตลาดทุกอย่าง ปรับวิธีคิดให้เหมือนกำลังทำสงคราม เพราะนี่คือสงครามจริงๆ Fur Kaiser, Gott, und Vaterland!

กล่าวโดยสรุป ผมสนับสนุนแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มของไทย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดทบทวนให้ดี ถ้าจะทำ ต้องทำเต็มที่ จะมาทำเช้าชามเย็นชาม ถ้าพลาดก็เอาเงินภาษีจ่ายไปแบบนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าจะลงทุนแล้วต้องไปให้สุด ประสานทุกภาคส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทั้งหมด เราจะแพ้ไม่ได้

สวัสดี

04.06.2020

แสดงความคิดเห็น