ลิเบียตะวันตก-ตะวันออก ? มหาอำนาจเตรียมแช่แข็งสงครามลิเบีย

สถานการณ์ในลิเบียขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ากองทัพแห่งชาติลิเบีย (Libyan National Army – LNA) ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ (Government of National Accord – GNA) ที่กรุงตริโปลีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตุรกีได้ กองกำลังฝ่ายรัฐบาลลิเบียสนับสนุนโดยกบฏซีเรียสามารถยึดพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลิเบียได้มากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดกองทัพแห่งชาติลิเบียถอยร่นมาถึงเมืองเซอร์เตและฐานทัพอากาศจูฟรา ทางตอนกลางของลิเบีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นประตูไปสู่แหล่งน้ำมันของลิเบีย กองกำลังฝ่ายรัฐบาลลิเบียพยายามเข้ายึดเมืองเซอร์เตแต่ไม่สำเร็จ เมื่อสถานการณ์เริ่มชะงักงัน ประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องก็เริ่มเจรจาแบ่งผลประโยชน์กัน

ภาพประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซีของอียิปต์ ระหว่างเยี่ยมชมเรือลาดตระเวณมัสควา เดือนสิงหาคม ปี 2014 (http://kremlin.ru/)

เมื่อไม่กี่วันก่อนอียิปต์ ซึ่งให้การสนับสนุนฝ่ายกองทัพแห่งชาติลิเบีย ได้ประกาศ “ความริเริ่มไคโร” (Cairo Initiative) เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในลิเบีย เข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาทางการเมือง แนวคิดของอียิปต์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส และกลุ่มเศรษฐีน้ำมัน

http://www.xinhuanet.com/english/2020-06/08/c_139123971.htm

อียิปต์ไม่ต้องการให้ตุรกีและรัฐบาลลิเบียซึ่งสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เข้ามาประชิดชายแดน เป็นสาเหตุสำคัญที่อียิปต์ให้การสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลิเบีย แต่เมื่อกองทัพแห่งชาติลิเบียไม่สามารถยึดครองกรุงตริโปลีได้เด็ดขาด อียิปต์จึงต้องลดข้อต่อรองลงมาเหลือเพียงใช้ภาคตะวันออกของลิเบียเป็นพื้นที่กันชนเท่านั้น ไม่ยอมถอยไปมากกว่านี้ ในช่วงเวลาเดียวกับที่อียิปต์เรียกร้องให้มีการหยุดยิง กองทัพอียิปต์ก็เคลื่อนอาวุธหนัก รวมถึงรถถัง M1 Abrams เข้าประชิดชายแดนลิเบีย ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลลิเบียและตุรกีว่าถ้าไม่ยอมหยุดยิง กองทัพอียิปต์ก็จะเข้าแทรกแซงในลิเบีย

https://www.almasdarnews.com/article/huge-egyptian-military-convoy-heads-to-border-of-libya-media/

คลิปขบวนรถบรรทุกชานต่ำลำเลียงรถถัง M1 Abrams ของกองทัพอียิปต์มุ่งหน้าไปชายแดนลิเบีย

ฝั่งตุรกีไม่ได้แสดงท่าทีเกี่ยวกับข้อเสนอของอียิปต์อย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลลิเบียยังต่อรองว่าขอยึดเมืองเซอร์เตและฐานทัพอากาศจูฟราให้ได้ก่อน ค่อยเข้าสู่โต๊ะเจรจา ส่วนตัวผมคิดว่ารัฐบาลลิเบียคงได้ใบสั่งจากตุรกี เพราะเป้าหมายของตุรกีที่เข้าแทรกแซงในลิเบียก็คือแหล่งน้ำมัน ถ้ามาหยุดยิงเสียก่อน ต่อให้รัฐบาลลิเบียให้สัมปทานน้ำมันในลิเบียแก่ตุรกี ตุรกีก็เข้าไปขุดเจาะไม่ได้อยู่ดี รัฐบาลลิเบียยังอ้างด้วยว่าจำเป็นต้องยึดเมืองเซอร์เตและฐานทัพอากาศจูฟราเพื่อไม่ให้รัสเซียตั้งฐานทัพได้ ประเด็นนี้รัฐบาลลิเบียพยายามหาเสียงกับสหรัฐฯ ใช้รัสเซียเป็นข้ออ้าง แต่คงไม่ได้ผล เพราะประเทศที่ให้การสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามมีพันธมิตรของสหรัฐฯรวมอยู่ด้วยเช่นฝรั่งเศส อียิปต์ UAE ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ได้ไม่คุ้มเสีย สังเกตว่าสหรัฐฯให้การสนับสนุนความริเริ่มไคโรของอียิปต์

https://www.aa.com.tr/en/middle-east/libya-govt-to-start-political-talks-upon-retaking-sirte/1869930

ไม่ว่าสุดท้ายฝ่ายไหนจะยึดเมืองเซอร์เตและฐานทัพอากาศจูฟราได้ สงครามลิเบียก็จะไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด เมื่อมหาอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันลงตัว ความขัดแย้งก็จะถูกแช่แข็งไว้ทำนองเดียวกับซีเรีย ไม่สามารถรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวได้ แบ่งเป็นลิเบียตะวันตก (เฉียงเหนือ) และลิเบียตะวันออก เป็นบทเรียนให้ประเทศต่างๆที่คิดจะนำมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของตัวเอง

สวัสดี

10.06.2020

แสดงความคิดเห็น