หน่วยงานความร่วมมือเทคโนโลยีทางทหารของรัสเซีย (Federal Service for Military-Technical Cooperation – FSMTC) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาร์เมเนียลงนามซื้อสิทธิบัตรปืนเล็กยาวคาลาชนิคอฟ AK-103 ไปตั้งสายการผลิตในประเทศเป็นเวลา 10 ปี กำลังการผลิตปีละ 50,000 กระบอก เริ่มเดินสายการผลิตเดือนกรกฎาคมนี้ โดยช่วงแรกจะนำเข้าชิ้นส่วนจากรัสเซียมาประกอบก่อน หลังจากนั้นก็จะผลิตชิ้นส่วนเอง
https://armenpress.am/eng/news/1017257.html
ปืนเล็กยาว AK-103 และปืนเล็กสั้น AK-104 ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร ขนาดเดียวกับปืนเล็กยาว AK-47, AKM และปืนเล็กสั้น AKMS ที่กองทัพอาร์เมเนียมีใช้งานอยู่ น่าจะเป็นการจัดหาของใหม่มาทดแทนของเก่า แต่น่าสนใจมากว่าอาร์เมเนียก็มีปืนเล็กยาว AK-74 และ AK-74M ซึ่งใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร ใช้งานอยู่ เหตุใดจึงเลือกจัดหาปืนรุ่นใหม่ที่ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร แทนที่จะใช้ขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตรต่อเหมือนรัสเซีย

เห็นข่าวอาร์เมเนียตั้งสายการผลิตปืนเล็กยาว AK-103 แล้วก็หันกลับมาทางประเทศไทย ส่วนตัวผมสนับสนุนให้ไทยผลิตปืนเล็กยาวได้เอง เพราะเป็นอาวุธพื้นฐาน มีความจำเป็น และความต้องการใช้งานมาก น่าจะมีความสำคัญมากกว่ารถหุ้มเกราะหรือจรวดเสียอีก ปัญหาอยู่ที่ปืนเล็กยาว Heckler & Koch HK-33 หรือ ปลย.11 ที่ไทยเคยผลิตเองก่อนหน้านี้ ปัจจุบันถือว่าล้าสมัยแล้ว ส่วนปืนเล็กยาวรุ่นใหม่ก็ดูเหมือนว่าหน่วยต่างๆของกองทัพไทยยังตัดสินใจร่วมกันเป็นเอกฉันท์ไม่ได้เสียทีว่าจะใช้ปืนรุ่นไหนกันแน่ จัดหามาทั้ง M16A4, Tavor TAR-21, IWI ACE, SCAR-L ฯลฯ ซื้อมาครั้งละหลักร้อยหรือหลักพันกระบอกเท่านั้น ไม่คุ้มค่าที่จะตั้งสายการผลิต แถมยอดสั่งซื้อเท่านี้อำนาจต่อรองในการเจรจากับผู้ผลิตก็น้อยด้วย ส่วนตัวผมเห็นว่าหน่วยต่างๆในกองทัพไทยทั้งสามเหล่า รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่นตำรวจ กรมป่าไม้ ฯลฯ ควรจับเข่าคุยกัน ตัดสินใจให้ได้ว่าจะใช้ปืนเล็กยาวขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร NATO รุ่นไหนเป็นหลักเพียงรุ่นเดียว น่าจะมีความต้องการรวมกันหลายแสนกระบอก ซื้อสิทธิบัตรปืนรุ่นนั้นมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ มีข้อยกเว้นแค่ปืนตระกูล AK ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร สำหรับทดแทน AKM และ Type-56 ของทหารพรานเท่านั้น ที่ให้จัดหาจากต่างประเทศ เพราะความต้องการไม่มาก ไม่คุ้มค่าที่จะตั้งสายการผลิต
สวัสดี
13.06.2020