ปฏิบัติการครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของเรือประจัญบานบิสมาร์ค

ภาพเรือประจัญบานบิสมาร์คของเยอรมนีในปี ค.ศ.1940 (Bundesarchiv, Bild 193-04-1-26 / CC-BY-SA 3.0)

เรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) ตั้งชื่อตามออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) เสนาบดีและรัฐบุรุษของปรัสเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรวมชาติเยอรมนี เป็นเรือรบที่มีชื่อเสียงที่สุดของเยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีระวางขับน้ำสูงสุด 50,300 ตัน เป็นหนึ่งในเรือรบที่ใหญ่ที่สุดที่ต่อในยุโรป เริ่มวางกระดูกงูวันที่ 1 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1936 ปล่อยลงน้ำในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1939 และเข้าประจำการในกองทัพเรือเยอรมันหรือ Kriegsmarine อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคม ปี ค.ศ.1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

เรือประจัญบานบิสมาร์คเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของเยอรมัน หุ้มเกราะหนา ติดอาวุธปืนเรือขนาด 380 มิลลิเมตร 8 กระบอกในป้อมปืน 4 ป้อม นอกจากนี้ยังมีปืนรองขนาด 150 มิลลิเมตร 12 กระบอกในป้อมปืน 6 ป้อม และปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 105 มิลลิเมตร, 37 มิลลิเมตรและ 20 มิลลิเมตร รวมกัน 44 กระบอก ลูกเรือประมาณ 2,000 นายเป็นอาสาสมัครทั้งหมด อย่างไรก็ตามแม้เรือประจัญบานบิสมาร์คจะมีขีดความสามารถในการรบสูงแต่ก็มีจุดอ่อนสำคัญสองข้อซึ่งความจริงเยอรมันตรวจพบตั้งแต่ตอนทดสอบเรือแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ข้อแรกคือปืนเรือขนาด 380 มิลลิเมตรมีแรงสะท้อนสูงมาก มีโอกาสสร้างความเสียหายให้อุปกรณ์บนเรือได้ ข้อสองคือในกรณีที่หางเสือเรือขัดข้อง จะบังคับเรือได้ยากมาก

ประเด็นสำคัญที่เยอรมันต้องตัดสินใจต่อไปคือจะใช้งานเรือประจัญบานบิสมาร์คอย่างไร พลเรือเอกเอริช เรเดอร์ (Erich Raeder) ซึ่งมีความเชื่อว่าเรือรบผิวน้ำควรมีบทบาทสำคัญในการปิดล้อมอังกฤษ (ส่วนเรือดำน้ำมีบทบาทในการสนับสนุน) ต้องการส่งหมู่เรือรบประกอบด้วยเรือประจัญบานบิสมาร์ค เรือลาดตระเวนประจัญบานชาร์นฮอร์สต์ (Scharnhorst) เรือลาดตระเวนประจัญบานกไนเซเนา (Gneisenau) และเรือลาดตระเวนหนักปรินซ์ออยเก้น (Prinz Eugen) เข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือผ่านช่องแคบเดนมาร์ก ระหว่างเกาะกรีนแลนด์และไอซ์แลนด์ ไล่ล่าคอนวอยเรือสินค้าของอังกฤษ เพื่อให้ในอังกฤษเกิดความขาดแคลนจนต้องยอมแพ้ ชื่อปฏิบัติการไรน์อือบุง (Rheinübung) แต่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ต้องการใช้เรือประจัญบานบิสมาร์คในการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า กลัวว่าถ้าส่งเรือประจัญบานบิสมาร์คออกรบจริง สัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของกองทัพเรือเยอรมันจะถูกทำลาย สุดท้ายพลเรือเอกเรเดอร์ตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการไรน์อือบุงในวันที่ 18 เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1941 ส่งเรือประจัญบานบิสมาร์คและเรือลาดตระเวนหนักปรินซ์ออยเก้นเลียบชายฝั่งสแกนดิเนเวียมุ่งหน้าไปช่องแคบเดนมาร์ก (ขณะนั้นเรือลาดตระเวนประจัญบานชาร์นฮอร์สต์และกไนเซเนาอยู่ระหว่างซ่อมแซมที่ฐานทัพเรือในฝรั่งเศส) โดยไม่บอกให้ฮิตเลอร์รู้ล่วงหน้า กว่าจะแจ้งฮิตเลอร์ก็วันที่ 23 พฤษภาคม เมื่อหมู่เรือแล่นไปเกือบถึงช่องแคบเดนมาร์กแล้ว ฮิตเลอร์โกรธมาก ต้องการเรียกหมู่เรือกลับ แต่พลเรือเอกเรเดอร์กล่อมฮิตเลอร์ว่าปฏิบัติการไรน์อือบุงจะช่วยดึงความสนใจของกองทัพเรืออังกฤษออกจากทะเลเมดิเตอเรเนียน ส่งผลดีต่อปฏิบัติการของเยอรมันในแอฟริกาเหนือและเกาะครีต ฮิตเลอร์จึงยินยอมให้ดำเนินปฏิบัติการต่อไปได้

เมื่ออังกฤษทราบข่าวปฏิบัติการของเรือประจัญบานบิสมาร์คจากภาพถ่ายทางอากาศ ก็ระดมเรือรบออกค้นหาในทันที เรือลาดตระเวณหนักซัฟโฟล์ค (HMS Suffolk) และนอร์โฟล์ค (HMS Norfolk) ตรวจพบหมู่เรือเยอรมันบริเวณช่องแคบเดนมาร์ก เรือลาดตระเวณหนักซัฟโฟล์คมีเรดาร์รุ่นใหม่ สามารถติดตามเรือประจัญบานบิสมาร์คได้และแจ้งตำแหน่งให้หมู่เรือรบอื่นๆของอังกฤษติดตามมา เรือประจัญบานบิสมาร์คพยายามยิงปืนเรือใส่เรือลาดตระเวณหนักของอังกฤษที่แล่นตามมา แต่แรงสะท้อนของปืนเรือกลับส่งผลให้เรดาร์ของเรือประจัญบานบิสมาร์คเสียหายเสียเอง

หมู่เรือรบของอังกฤษนำโดยเรือลาดตระเวณประจัญบานฮูด (HMS Hood) ซึ่งเคยเป็นเรือธงและสัญลักษณ์ของกองทัพเรืออังกฤษ และเรือประจัญบานปรินซ์ออฟเวลส์ (HMS Prince of Wales) ปะทะกับหมู่เรือรบเยอรมันในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1941 เรียกว่ายุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก ระหว่างปะทะกัน กระสุนปืนเรือของเรือประจัญบานบิสมาร์คเจาะทะลุเข้าไปในคลังแสงของเรือลาดตระเวณประจัญบานฮูด เกิดการระเบิดขึ้น มีลูกเรือรอดชีวิตเพียง 3 นายจากทั้งหมด 1,419 นาย เรือประจัญบานปรินซ์ออฟเวลส์ก็ถูกยิงที่หอบังคับการ ได้รับความเสียหาย ต้องออกจากการรบไป อย่างไรก็ตามเรือประจัญบานบิสมาร์คก็ถูกยิงได้รับความเสียหายเช่นกัน กัปตันเรือประจัญบานบิสมาร์คแอร์นส์ ลินเดมันน์ (Ernst Lindemann) ต้องการไล่ตามเรือรบของอังกฤษ แต่พลเรือเอกกึนเธอร์ ลึทเจนต์ (Günther Lütjens) ผู้บังคับหมู่เรือเยอรมันตัดสินใจให้เรือประจัญบานบิสมาร์คแยกทางกับเรือลาดตระเวนหนักปรินซ์ออยเก้น มุ่งหน้าไปฐานทัพเรือที่ฝรั่งเศสเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย ระหว่างนี้เรือลาดตระเวณหนักซัฟโฟล์คก็ยังคงไล่ตามชี้ตำแหน่งของเรือประจัญบานบิสมาร์ค แจ้งตำแหน่งให้ฝ่ายอังกฤษรู้

การจมของเรือลาดตระเวณประจัญบานฮูดส่งผลให้อังกฤษตกใจมาก นายกฯ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ออกคำสั่งให้จมเรือประจัญบานบิสมาร์คให้ได้ เรือบรรทุกเครื่องบินวิกตอเรียส (HMS Victorious) ส่งเครื่องบินตอร์ปิโดซอร์ดฟิช (Fairey Swordfish) จำนวน 9 ลำ โจมตีเรือประจัญบานบิสมาร์คช่วงเย็นวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1941 แต่ไม่เกิดความเสียหายมากนัก หลังจากนั้นเรือบรรทุกเครื่องบินอาร์ก รอยัล (HMS Ark Royal) ส่งเครื่องบินตอร์ปิโดซอร์ดฟิชจำนวน 15 ลำ โจมตีเรือประจัญบานบิสมาร์คอีกครั้งในคืนวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1941 คราวนี้หางเสือของเรือประจัญบานบิสมาร์คได้รับความเสียหาย ไม่สามารถบังคับเรือได้ แล่นวนเป็นวงกลม กลายเป็นเป้านิ่งให้หมู่เรือรบของอังกฤษประกอบด้วยเรือประจัญบาน 3 ลำ เรือลาดตระเวณ 3 ลำ และเรือพิฆาต 6 ลำรุมยิงถล่มในช่วงเช้าวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1941

แม้สถานการณ์จะหมดหวัง แต่เรือประจัญบานบิสมาร์คก็ยิงตอบโต้เรือรบอังกฤษอย่างเต็มที่ จนกระทั่งป้อมปืนของเรือประจัญบานบิสมาร์คถูกทำลายจนหมด ไม่สามารถทำการรบต่อไปได้ ตลอดการสู้รบ เรือรบอังกฤษยิงกระสุนปืนเรือใส่เรือประจัญบานบิสมาร์คถึง 2,786 ลูก ในจำนวนนี้เข้าเป้าประมาณ 400 ลูก แต่เรือประจัญบานบิสมาร์คก็ยังไม่จม เรือรบอังกฤษยิงตอร์ปิโดซ้ำอีก 3 ลูกก็ยังไม่จมอยู่ดี สุดท้ายลูกเรือเยอรมันทำการจมเรือประจัญบานบิสมาร์คเอง เพื่อไม่ให้ถูกอังกฤษยึดไปได้ มีลูกเรือของเรือประจัญบานบิสมาร์ครอดชีวิตเพียง 115 นาย เป็นการปิดฉากปฏิบัติการครั้งแรกและครั้งเดียวของเรือประจัญบานบิสมาร์ค

กองทัพเรือเยอรมันปิดข่าวการจมของเรือประจัญบานบิสมาร์ค ไม่ยอมแจ้งให้ฮิตเลอร์รู้ ฮิตเลอร์ไปทราบข่าวจากสื่ออังกฤษ ฮิตเลอร์โกรธมาก ออกคำสั่งห้ามไม่ให้เยอรมันส่งเรือรบผิวน้ำออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกอีก ส่งผลให้เรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ (Tirpitz) เรือพี่น้องของเรือประจัญบานบิสมาร์ค ถูกเก็บตัวอยู่ที่นอร์เวย์ตลอดสงคราม จนกระทั่งถูกจมโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1944

สวัสดี

15.06.2020

เพลง Bismarck วง Sabaton

One Comment on “ปฏิบัติการครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของเรือประจัญบานบิสมาร์ค”

แสดงความคิดเห็น