รถถังที-34 ปะทะ รถถังทีเกอร์ ในสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อพูดถึงรถถัง T-34 ของสหภาพโซเวียต สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนมักจะนำรถถังรุ่นนี้ไปเปรียบเทียบกับรถถัง Tiger I ของเยอรมนี ได้ข้อสรุปว่ารถถัง T-34 ด้อยกว่า สหภาพโซเวียตชนะสงครามเพราะปริมาณอย่างเดียวอะไรทำนองนั้น แต่ความจริงแล้วรถถัง T-34 และรถถัง Tiger I ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันโดยตรงได้ เพราะเป็นรถถังคนละประเภท ออกแบบมาใช้ในภารกิจที่แตกต่างกัน บทความนี้จะกล่าวถึงรถถังทั้งสองรุ่นอย่างคร่าวๆ

ภาพรถถัง T-34/85 ในงาน Reenactment จำลองการบุกยึดกรุงเบอร์ลิน (Cezary Piwowarski/ Wikimedia Commons)

รถถัง T-34 ของสหภาพโซเวียต จัดเป็นรถถังกลาง (Medium Tank) ทำนองเดียวกับรถถัง M4 Sherman ของสหรัฐฯและ Panzer IV ของเยอรมนี รถถังประเภทนี้มีอำนาจการยิงและเกราะป้องกันดีกว่ารถถังเบา (Light Tank) ขณะเดียวกันก็มีความคล่องตัวมากกว่ารถถังหนัก (Heavy Tank) ใช้งานได้เกือบทุกภารกิจ ทำนองเดียวกับรถถังหลัก (Main Battle Tank) ในปัจจุบัน รถถัง T-34 แบ่งเป็น 2 รุ่นใหญ่ๆคือรุ่นติดปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรหรือรถถัง T-34/76 และรุ่นติดปืนใหญ่ขนาด 85 มิลลิเมตรหรือรถถัง T-34/85

รถถัง T-34/76 เข้าประจำการในปี ค.ศ.1940 และได้รับการปรับปรุงครั้งแรกในปี ค.ศ.1941 มีประสิทธิภาพดีกว่ารถถังเยอรมันทุกรุ่นในขณะนั้น แต่มีข้อเสียคือป้อมปืนแคบ มีคนในป้อมเพียง 2 นาย ผบ. รถ จึงต้องรับภาระหนัก ประกอบกับทัศนวิสัยของช่องตรวจการณ์ไม่ดี รวมถึงรถถังโซเวียตส่วนใหญ่ไม่มีวิทยุ ส่งผลให้ไม่สามารถต่อสู้กับรถถังเยอรมันที่แม้จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่า แต่พลประจำรถได้รับการฝึกดีกว่าและมีประสบการณ์มากกว่าได้ ในปี ค.ศ.1942 – 1943 สหภาพโซเวียตจึงปรับปรุงรถถัง T-34/76 ใหม่ขยายป้อมปืนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มตำแหน่งพลยิงเข้าไป ลดภาระของ ผบ. รถ เพิ่มจำนวนพลประจำรถจาก 4 เป็น 5 นาย อย่างไรก็ตามถึงตอนนั้นรถถังเยอรมันรุ่นใหม่ๆที่มีอำนาจการยิงสูงขึ้นเช่นรถถัง Panzer IV รุ่น F2 และรถถัง Tiger I เริ่มเข้าประจำการแล้ว ปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตรไม่เพียงพอรับมือรถถังเยอรมันอีกต่อไป สหภาพโซเวียตจึงเปลี่ยนป้อมปืนรถถัง T-34 ใหม่ ติดปืนใหญ่ขนาด 85 มิลลิเมตรแทน ปืนรุ่นนี้สามารถเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง Panther และ Tiger I ได้ที่ระยะ 500 เมตร รถถัง T-34/85 เข้าสู่สายการผลิตช่วงปลายปี ค.ศ.1943 ใช้งานต่อเนื่องจนสิ้นสุดสงคราม ตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตผลิตรถถัง T-34 ทุกรุ่นออกมารวมกันประมาณ 60,000 คัน ช่วงหลังสงคราม สหภาพโซเวียตถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โปแลนด์และเชโกสโลวาเกียตั้งสายการผลิตรถถัง T-34/85 ในปี ค.ศ.1951 จนถึงปี 1955 และ 1958 ตามลำดับ รถถัง T-34/85 ของลาวเป็นรถถังที่ผลิตในเชโกสโลวาเกีย

ภาพรถถัง Tiger I หมายเลข 100 ตั้งแสดงที่ Patriot Museum เมือง Kubinka รัสเซีย (Alan Wilson/ Flickr)

รถถัง Tiger I เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1942 และปิดสายการผลิตในปี ค.ศ.1944 ผลิตออกมา 1,347 คัน รถถัง Tiger I มีน้ำหนัก 57 ตัน หุ้มเกราะหนา ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตร สามารถทำลายรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรเกือบทุกรุ่นได้จากระยะไกล จัดเป็นรถถังหนัก ประเภทเดียวกับรถถัง M-26 Pershing ของสหรัฐฯหรือ IS-2 ของสหภาพโซเวียต มีอำนาจการยิงและเกราะป้องกันดีกว่ารถถังกลาง แต่มีความคล่องตัวน้อยกว่า และต้องการการซ่อมบำรุงมากกว่า ภารกิจหลักของรถถังประเภทนี้คือการเจาะแนวป้องกันของข้าศึก เปิดทางให้ยานเกราะอื่นๆรวมถึงรถถังกลางบุกทะลุไป บางครั้งจึงเรียกรถถังประเภทนี้เรียกว่า breakthrough tanks หลังจากนั้นรถถังหนักก็จะถูกถอนกลับไปแนวหลังเพื่อซ่อมบำรุง ก่อนจะส่งไปเจาะแนวข้าศึกในพื้นที่อื่นๆต่อไป ปัญหาคือตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ.1943 หลังสมรภูมิคูร์ส (Kursk) ในแนวรบด้านตะวันออก เยอรมนีกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ อังกฤษ และพันธมิตร โจมตีเข้ามาจากทุกทิศทาง ทั้งในแนวรบด้านตะวันออกซึ่งมีแนวหน้ายาวหลายพันกิโลเมตร แนวรบด้านอิตาลี และภายหลังในยุโรปตะวันตก หลังการยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day) ภารกิจหลักของรถถัง Tiger I ได้เปลี่ยนจากการเจาะแนวข้าศึก เป็นกองกำลังเคลื่อนที่คอยอุดแนวของเยอรมันที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรเจาะเข้ามา ผลที่เกิดขึ้นคือรถถัง Tiger I ต้องเคลื่อนกำลังและทำการรบตลอดเวลา โดยไม่มีเวลาพักซ่อมบำรุง ส่งผลให้มีรถถัง Tiger I เสียหายระหว่างทาง ไม่สามารถทำการรบได้จำนวนมาก เป็นที่มาของมีม “Hans, ze transmission broke!” หลายคนมองเรื่องนี้เป็นข้อด้อยของรถถัง Tiger I ตัดสินว่ามีประสิทธิภาพไม่ดีแบบที่โฆษณาชวนเชื่อกันไว้ อย่างไรก็ตามการใช้ประเด็นนี้มาตัดสินรถถัง Tiger I อาจไม่ยุติธรรมนัก เพราะเกิดจากการใช้งานรถถัง Tiger I ผิดวัตถุประสงค์และหลักนิยมที่ออกแบบไว้

สวัสดี

25.06.2020

แสดงความคิดเห็น