เมื่อวันพุธที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝรั่งเศสประกาศถอนตัวจากภารกิจร่วมทางทะเลของ NATO ในทะเลเมดิเตอเรเนียน หลังเกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างเรือรบของฝรั่งเศสและเรือรบของตุรกี เนื่องจากเรือรบฝรั่งเศสพยายามสกัดเรือลำเลียงยุทโธปกรณ์จากตุรกีส่งไปให้รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ (Government of National Accord) ที่กรุงตริโปลีของลิเบีย ฝ่าฝืนมติสหประชาชาติ (United Nations – UN) ที่ห้ามไม่ให้มีการส่งอาวุธเข้าไปในลิเบีย
เหตุเผชิญหน้าดังกล่าวส่งผลให้เกิดสงครามปากระหว่างฝรั่งเศสและตุรกี ฝรั่งเศสวิจารณ์ตุรกีเป็นเหมือนอาชญากร ส่งยุทโธปกรณ์และกำลังพลกบฏซีเรียเข้าแทรกแซงลิเบีย รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเรียกประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union – EU) ขู่คว่ำบาตรตุรกี ทางด้านตุรกีก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝรั่งเศส ตอบโต้ว่าที่ลิเบียวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นก็เป็นเพราะฝรั่งเศสนั่นแหละ ตุรกียังเรียกร้องให้ฝรั่งเศสขอโทษด้วย
https://www.aa.com.tr/en/europe/turkey-demands-apology-from-france-/1897368

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างเรือรบของประเทศสมาชิก NATO กับตุรกี (ซึ่งก็เป็นสมาชิก NATO เช่นกัน) ช่วงต้นเดือนมิถุนายนก็เกิดเหตุ เรือฟริเกตของกรีซพยายามจะสกัดเรือฟริเกตและเรือลำเลียงของตุรกีที่กำลังมุ่งหน้าไปลิเบีย
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรีซและตุรกีตึงเครียดมากขึ้น ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศของกรีซเดินทางเยือนภาคตะวันออกของลิเบีย หารือกับรัฐสภาของลิเบียที่เมืองโตบรูค ฝ่ายเดียวกับกองทัพแห่งชาติลิเบีย (Libyan National Army – LNA)

การที่ประเทศสมาชิก NATO แบ่งฝ่ายซัดกันเองในสงครามลิเบีย แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ประเทศต่างๆอาจร่วมมือกันในประเด็นหนึ่งและขัดแย้งกันในอีกประเด็นก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดา ตุรกีต้องการแผ่อิทธิพลในตะวันออกกลางเหมือนจักรวรรดิออตโตมันในอดีต ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) รวมถึงต้องการแหล่งพลังงานในทะเลเมดิเตอเรเนียนที่ตกลงกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติลิเบียไว้ ตุรกีจึงต้องเข้าแทรกแซงสงครามลิเบีย อุ้มรัฐบาลลิเบียไม่ให้ถูกฝ่ายกองทัพแห่งชาติลิเบียโค่นล้มได้ ขณะที่กรีซมีโครงการร่วมกับไซปรัส อิสราเอล และอียิปต์ ที่จะสร้างท่อก๊าซจากภาคตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนมายังยุโรปเรียกว่า EastMed แต่โครงการดังกล่าวไม่อาจเกิดได้ ถ้าตุรกีร่วมมือกับรัฐบาลลิเบียอ้างสิทธิในน่านน้ำทะเลเมดิเตอเรเนียนขวางไว้ กรีซจึงต้องขัดขวางตุรกี ทางด้านฝรั่งเศสก็ให้การสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลิเบียจึงใช้มติ UN มาเป็นข้ออ้าง พยายามสกัดไม่ให้ตุรกีส่งยุทโธปกรณ์ไปช่วยรัฐบาลลิเบียได้
ประเด็นนี้สร้างปัญหาให้สหรัฐฯมาก เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯในฐานะประเทศอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก มักดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเด็ดขาด ไม่ประนีประนอม เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆตลอด ถ้าอยู่ๆสหรัฐฯไม่ยอมตัดสินกรณีลิเบีย ก็จะสั่นคลอนฐานะประเทศอภิมหาอำนาจ ประเทศต่างๆก็จะเชื่อถือสหรัฐฯน้อยลง แต่ถ้าเลือกสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป อีกฝ่ายหนึ่งก็จะตีตัวออกห่าง ซึ่งประเทศที่เข้าแทรกแซงสงครามลิเบียขณะนี้เช่นตุรกี ฝรั่งเศส กรีซ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯทั้งนั้น เรียกว่ามีแต่เสียกับเสีย เป็นเหตุผลที่ที่ผ่านมาสหรัฐฯแทบจะวางมือไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามลิเบียเลย ส่งผลให้เกิดสุญญากาศในลิเบียที่รัสเซียฉวยโอกาสเข้าแทรกแซง รัสเซียให้การสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลิเบียแบบลับๆ แต่ก็พร้อมเจรจากับตุรกีเช่นกัน เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันมาก รัสเซียจึงมีบทบาทสำคัญในการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในลิเบียโดยแทบไม่ต้องลงทุนเลย ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงมอสโก
สวัสดี
03.07.2020