
ผมพึ่งเห็นข่าวเมื่อสองสามวันก่อนที่ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงงบประมาณจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ของกองทัพไทยว่ามีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันกองทัพไทยใช้ยุทโธปกรณ์เก่าอยู่ถึง 80% ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมมาก จึงจำเป็นต้องจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่มาทดแทน ผมเห็นตัวเลขนี้ก็ค่อนข้างแปลกใจ เพราะไม่มั่นใจว่าโฆษกรัฐบาลอ้างอิงตัวเลขนี้จากไหน
ก่อนจะดราม่าการเมือง ผมขออธิบายก่อนครับว่าคำว่า “อาวุธเก่า” หรือ “อาวุธใหม่” นั้นมีหลายนิยาม ถ้าใช้นิยามต่างกัน สัดส่วนอาวุธเก่า-อาวุธใหม่ก็จะแตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่างกรณีรัสเซีย มักจะโฆษณาตลอดว่ากองทัพรัสเซียจะต้องมีอาวุธรุ่นใหม่คิดเป็น 70% ของทั้งหมด เห็นตัวเลขนี้หลายท่านอาจสงสัย อาวุธรุ่นใหม่ 70% แล้วทำไมถึงยังมีอาวุธยุคโซเวียตเต็มกองทัพ คำตอบคือเพราะนิยามอาวุธใหม่ของรัสเซีย รวมอาวุธรุ่นเก่าที่นำมาอัพเกรด เช่นรถถัง T-72B3, รถถัง T-80BVM ฯลฯ เข้าไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่สัดส่วนอาวุธใหม่จะมีมาก ทั้งที่เกือบทั้งหมดมาจากการอัพเกรดอาวุธยุคโซเวียต
ย้อนกลับมาที่กองทัพไทย ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีนิยามเดียวที่เป็นไปได้ที่จะจัดอาวุธในกองทัพไทย 80% เป็นอาวุธเก่า โดยจัดให้อาวุธสมัยสงครามเย็นที่ไทยใช้งานมานานเกิน 20 – 30 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะผ่านการปรับปรุงอัพเกรดหรือไม่ก็ตาม เป็นอาวุธเก่าทั้งหมด แล้วจัดอาวุธใหม่หมายถึงยุทโธปกรณ์ที่ไทยพึ่งจัดหาช่วงประมาณสิบกว่าปีมานี้ ยกตัวอย่างรถถังของกองทัพบกไทยมีทั้งหมดประมาณ 700 คัน ในจำนวนนี้มีเพียงรถถัง Oplot-M จากยูเครนและรถถัง VT-4 จากจีนที่พึ่งจัดหามาใหม่รวมกันไม่ถึง 100 คันที่สามารถจัดเป็นอาวุธใหม่ตามนิยามนี้ได้ ในขณะที่รถถัง M60A3, รถถังเบา Commando Stingray แม้จะได้รับการอัพเกรดระบบควบคุมการยิงแล้ว ก็ยังคงจัดเป็นอาวุธเก่า ในส่วนของเครื่องบินขับไล่ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีอยู่เกือบ 100 ลำ ตามนิยามนี้น่าจะมีเพียง JAS 39 Gripen ที่จัดเป็นอาวุธใหม่ ขณะที่เครื่องบินขับไล่ F-16 และ F-5 แม้จะผ่านการอัพเกรดแล้ว แต่ก็ยังจัดเป็นอาวุธเก่าอยู่
ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการใช้นิยามนี้ เพราะตามนิยามนี้ถ้าจะพัฒนากองทัพไทยให้ทันสมัย ก็ต้องยกเครื่อง ปลดประจำการอาวุธรุ่นเก่าทั้งหมด จัดหาของใหม่มือหนึ่งมาทดแทน ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะไทยมีงบประมาณไม่เพียงพอ แม้แต่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ก็มีงบประมาณไม่พอจัดหาอาวุธรุ่นใหม่มาทดแทนของสมัยสงครามเย็นได้ทั้งหมด ยังต้องอัพเกรดของเก่าใช้งานควบคู่กันไป ไทยก็ควรต้องใช้นิยามเดียวกัน โดยเทียบเคียงกับยุทโธปกรณ์ของเพื่อนบ้านด้วย เพราะคงจะใช้แสนยานุภาพของประเทศมหาอำนาจมาเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาเล็กๆอย่างไทยไม่ได้ ยกตัวอย่างรถถังที่ทันสมัยสำหรับรัสเซีย อย่างน้อยที่สุดอาจต้องเป็นรถถัง T-72B3 ที่มีขีดความสามารถใกล้เคียงรถถัง T-90A เพื่อให้พอถ่วงดุลกับรถถังรุ่นใหม่ๆของ NATO และจีนได้ แต่สำหรับไทย ส่วนตัวผมคิดว่ารถถัง M60A3 ก็ถือว่าทันสมัยพอสมควรแล้ว เทียบกับรถถังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้ผมจึงประมาณคร่าวๆว่าสัดส่วนอาวุธเก่า-อาวุธใหม่ของกองทัพไทย จริงๆน่าจะอยู่ที่ 50-50 แม้จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูงแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาวุธเก่าของไทยหลายรุ่นก็เก่ามากจริงๆ เช่นรถถังเบา M41A3 ตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี, ปืนต่อสู้อากาศอัตตาจร M16 ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น จำเป็นต้องจัดหาของใหม่มาทดแทนได้แล้ว ผมคิดว่ากองทัพไทยควรต้องมีสัดส่วนอาวุธใหม่อย่างน้อย 60 – 70% เพื่อให้เพียงพอถ่วงดุลกับเพื่อนบ้านทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับงบประมาณในการซ่อมบำรุง ไม่ว่าจะอาวุธเก่าหรืออาวุธใหม่ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่แล้ว ปัญหาน่าจะอยู่ที่อาวุธที่เก่ามากๆ ผู้ผลิตปิดสายการผลิตไปแล้ว อะไหล่หายาก ส่งผลต่อการซ่อมบำรุงและความพร้อมรบ ประเด็นนี้ก็ควรต้องพิจารณาเหมือนกัน ส่วนตัวผมคิดว่าอาวุธรุ่นเก่าที่สุดของกองทัพไทยไม่ควรเก่าเกินยุค 70 ยกเว้นยุทโธปกรณ์บางรุ่นที่ยังมีการใช้งานแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เช่นรถสายพานลำเลียง M113 เป็นต้น
สวัสดี
09.07.2020