อาร์เมเนียเริ่มเดินสายการผลิตปืน AK-103 จากรัสเซีย ภายในประเทศ

ภาพปืน AK-103 ติดเครื่องยิงลูกระเบิด GP-34 ในงาน Engineering Technologies 2012 (Mike 1979 Russia/ Wikimedia Commons)

อาร์เมเนียเริ่มเดินสายการผลิตปืนเล็กยาวคาลาชนิคอฟ AK-103 ในประเทศ มีกำลังการผลิตปีละ 50,000 กระบอก ระยะแรกจะนำเข้าชิ้นส่วนจากรัสเซียมาประกอบก่อน จากนั้นช่วงกลางปี 2021 ก็จะเริ่มผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดในอาร์เมเนีย ปืน AK-103 ที่ผลิตออกมาชุดแรกจะส่งมอบให้กองทัพอาร์เมเนียใช้เองก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่มส่งออกต่างประเทศ มีการจ้างแรงงานซึ่งเคยเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามเดือนเมษายน (April War) กับอาเซอร์ไบจานเมื่อปี 2016 รวมถึงทหารผ่านศึกที่เคยปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานและโคโซโว มาทำงานในโรงงานผลิตปืน AK-103 ด้วย

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของอาร์เมเนียได้เดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานผลิตปืน AK-103 ดังกล่าวด้วย

https://armenpress.am/eng/news/1020891/

https://www.janes.com/defence-news/news-detail/armenian-assault-rifle-factory-begins-production

คลิปทดสอบความทนทานของปืน AK-103 จากบริษัท Kalashnikov

ปืนเล็กยาว AK-103 ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร (ขนาดเดียวกับ AK-47) เป็นส่วนหนึ่งของปืน AK series 100 ซึ่งเกิดจากการนำปืน AK-74M ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายหลักของทหารรัสเซียในปัจจุบัน (ในอนาคตจะถูกทดแทนด้วย AK-12) ซึ่งใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตรมาพัฒนาให้สามารถใช้กระสุนขนาดต่างๆกันได้ สำหรับส่งออกให้ลูกค้าต่างประเทศ มีการใช้งานแพร่หลายทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเองก็พึ่งมีการจัดหาปืน AK-104 ซึ่งใช้กระสุนขนาดเดียวกับ AK-103 แต่เป็นรุ่นปืนเล็กสั้นมาให้ทหารพรานใช้เมื่อไม่กี่ปีก่อน

ถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายท่านอาจสนับสนุนให้ไทยตั้งสายการผลิตปืนเองตามอย่างอาร์เมเนียบ้าง ส่วนตัวผมก็เห็นด้วย เพราะอาวุธประจำกาย แม้จะเป็นอาวุธพื้นฐาน แต่ก็มีความสำคัญมาก ความจริงควรมีความเร่งด่วนมากกว่ารถหุ้มเกราะหรือจรวดเสียอีก อย่างไรก็ตามถ้าจะตั้งสายการผลิตปืนในไทยก็ต้องเลือกขนาดกระสุนให้ดี ปัจจุบันปืนที่ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตรในกองทัพไทยเช่น AKM (AK-47 ของแท้หายากมาก), Type-56 และ AK-104 มีใช้งานหลักๆในหน่วยทหารพรานเท่านั้น ความต้องการใช้งานไม่มาก ไม่คุ้มค่าที่จะตั้งสายการผลิต การตั้งสายการผลิตปืนในประเทศไทยควรเลือกรุ่นที่ใช้กระสุนขนาด 5.56 x 45 มิลลิเมตร มาตรฐาน NATO ซึ่งเป็นขนาดกระสุนหลักของกองทัพไทย

แม้ก่อนหน้านี้ไทยจะเคยตั้งสายการผลิตปืนเล็กยาว Heckler & Koch HK-33 หรือ ปลย.11 มาแล้ว แต่ปัจจุบันผ่านมา 50 ปี ต้องถือว่าปืน HK-33 นั้นล้าสมัยไปแล้ว ควรซื้อสิทธิบัตรปืนรุ่นใหม่มาได้แล้ว ปัญหาอยู่ที่ที่ผ่านมาไทยจัดหาปืนเล็กยาวรุ่นต่างๆกันมาหลายรุ่นมากเช่น Tavor TAR-21, M16A4, SCAR-L, IWI ACE ล่าสุดก็ AK-201 สำหรับทหารพรานนาวิกโยธิน ส่วนใหญ่จำนวนที่ซื้ออยู่ที่ครั้งละหลักร้อยหรือหลักพันกระบอกเท่านั้น ส่วนตัวผมอยากให้กองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นตำรวจ กรมป่าไม้ ฯลฯ หารือกันแล้วเลือกแบบปืนเพียงแบบเดียวเป็นมาตรฐานใช้ทั้งประเทศ น่าจะมีความต้องการรวมกันหลายแสนกระบอก ใช้ต่อรองกับผู้ผลิต ซื้อสิทธิบัตรมาตั้งโรงงานในประเทศไทยได้อย่างคุ้มค่า เกิดการจ้างงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

สวัสดี

10.07.2020

แสดงความคิดเห็น