แม้ตุรกีจะส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 Pechora หรือ SA-3 Goa ผลิตในสหภาพโซเวียต ที่จัดหาจากยูเครน เข้าไปทดแทนระบบป้องกันภัยทางอากาศ MIM-23 Hawk ผลิตในสหรัฐฯ ที่ถูกทำลายในลิเบียแล้วก็ตาม แต่ลำพัง S-125 ไม่สามารถแก้ปัญหาของตุรกีได้ครับ เนื่องจากทั้ง Hawk และ S-125 ต่างก็เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลาง มีข้อจำกัดเรื่องระยะยิง ยิงไปไม่ถึงเครื่องบินรบของข้าศึก ทำได้เพียงสกัดจรวดที่ยิงมาเท่านั้น
มีข้อมูลจากสื่อ 218 News ของลิเบีย ระบุว่าเครื่องบินรบที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศฐานทัพอากาศวาติยาของตุรกีในลิเบีย คือเครื่องบินขับไล่ Rafale ของฝรั่งเศส ยิงจรวดมาจากระยะประมาณ 70 กิโลเมตร แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Hawk ของตุรกีมีระยะยิงเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง จะเห็นได้ว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศของตุรกีไม่มีโอกาสสอยเครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศสได้เลย ทำได้อย่างมากที่สุดแค่ป้องกันจรวดที่ฝรั่งเศสยิงมาเท่านั้น ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 เองก็มีระยะยิงเพียง 35 กิโลเมตร ไม่สามารถแก้ปัญหาจุดนี้ได้ สิ่งที่ตุรกีต้องใช้จริงๆคือระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกล ซึ่งปัจจุบันตุรกีมีอยู่เพียงรุ่นเดียวคือระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ที่จัดหาจากรัสเซีย เมื่อไม่กี่วันก่อนสื่อตุรกีเช่น Daily Sabah ก็เริ่มโยนหินถามทางแล้วว่าถ้าตุรกีจะส่ง S-400 ไปลิเบีย สหรัฐฯและรัสเซียจะยอมรับได้หรือไม่

แม้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 อาจจะช่วยแก้ปัญหาด้านการทหารให้ตุรกีในลิเบียได้ แต่ปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาอาจมีมากกว่าที่คิด รัสเซียให้การสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลิเบีย (Libyan National Army – LNA) ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามตุรกี มีการส่งทหารรับจ้าง Wagner ไปช่วยรบ ก่อนหน้านี้สหรัฐฯยังกล่าวหารัสเซียด้วยว่าส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 และเครื่องบินโจมตี Su-24 เข้าไปในลิเบีย รัสเซียคงไม่ยอมให้ตุรกีใช้ S-400 ทำอันตรายกับกำลังรบของรัสเซีย นอกจากนี้การเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในลิเบียระหว่างตุรกีและรัสเซียมีความสำคัญมากต่อการยุติการสู้รบในลิเบีย ถ้าตุรกีแบ่งผลประโยชน์กับรัสเซียลงตัว เดี๋ยวสงครามก็ยุติ (ถูกแช่แข็ง) ได้เองโดยไม่ต้องใช้ S-400 นอกจากรัสเซียแล้ว ตุรกียังต้องคิดถึงสหรัฐฯด้วย ปัจจุบันประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังถูกกดดันอย่างหนักให้คว่ำบาตรตุรกีที่ไปจัดหา S-400 จากรัสเซีย ตามกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA แต่ทรัมป์ไม่เห็นด้วย จึงกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ตุรกีเปิดใช้งาน S-400 ให้ตั้งเป็นหุ่นไล่กาไว้เฉยๆ ถ้าตุรกีจะใช้ S-400 ในลิเบียก็จะเข้าข่ายถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรทันที จะขายต่อให้รัฐบาลปรองดองแห่งชาติลิเบีย (Government of National Accord – GNA) ที่กรุงตริโปลีก็ไม่ได้ เพราะการขาย S-400 ต่อให้ประเทศที่สามจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัสเซียก่อน
จากประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ ผมเชื่อว่าตุรกีจะไม่ส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 เข้าไปในลิเบีย ยกเว้นจะสามารถตกลงผลประโยชน์กับทั้งสหรัฐฯและรัสเซียได้
สวัสดี
14.07.2020