บทเรียนจากสงครามเรืออูเยอรมัน สำหรับเรือดำน้ำไทย

ภาพโดย Achim Scholty จาก Pixabay

ยุทธนาวีแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) หรือบางครั้งเรียกว่าสงครามเรืออู (U-Boat War) ในสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นสงครามเรือดำน้ำที่มีความสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทั้งปฏิบัติการของเรือดำน้ำและการต่อต้านเรือดำน้ำมาจนถึงปัจจุบัน ในบทความนี้ผมจะพูดถึงบทเรียนจากสงครามเรืออู สำหรับนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ทั้งการจัดหาเรือดำน้ำและอาวุธสำหรับต่อต้านเรือดำน้ำ

ปฏิบัติการของเรือดำน้ำเยอรมันหรือเรืออู (U-Boat ภาษาเยอรมันคือ U-Boot ย่อมาจาก Unterseeboot เรือใต้ทะเล) ในการจมเรือสินค้าในมหาสมุทรแอตแลนติก หวังกดดันให้อังกฤษเกิดความขาดแคลนจนต้องยอมแพ้ ถือเป็นปฏิบัติการเรือดำน้ำในอุดมคติสำหรับหลายๆคนที่สนับสนุนให้ประเทศไทยมีกองเรือดำน้ำเป็นของตัวเอง หลังว่างเว้นมาหลายสิบปี หลังจากเรือดำน้ำญี่ปุ่นที่ไทยเคยจัดหามา 4 ลำสมัยสงครามโลกครั้งที่สองถูกปลดประจำการไปเมื่อปี ค.ศ.1951 เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่ แต่ขณะเดียวกันการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถพัฒนายุทธวิธีและเทคโนโลยีใหม่ๆในการต่อต้านเรือดำน้ำ จนสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะในยุทธนาวีแห่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปี ค.ศ.1943 เป็นต้นไป ก็ส่งผลให้หลายคนให้ความสำคัญกับการต่อต้านเรือดำน้ำมากกว่า ต้องการให้ไทยเน้นจัดหาเรือรบผิวน้ำและอากาศยานสำหรับต่อต้านเรือดำน้ำ ลองมาพิจารณากันว่าสงครามเรืออูสอนอะไรเราบ้าง

เริ่มจากปฏิบัติการของเรือดำน้ำก่อน กองทัพเรือเยอรมันหรือครีกสมารีเน่อ (Kriegsmarine) เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1939 ทั้งที่ยังไม่พร้อม ตามแผนพัฒนากองทัพเรือเยอรมันหรือแผน Z เยอรมนีจะมีเรือดำน้ำจำนวน 249 ลำในปี ค.ศ.1948 แต่สงครามกลับเกิดขึ้นก่อนกำหนดเกือบ 10 ปี ขณะที่เยอรมันมีเรือดำน้ำเพียง 57 ลำ และในจำนวนนี้มีเพียง 26 ลำที่ออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการระยะไกลในมหาสมุทร เทคโนโลยีหลายอย่างก็ยังไม่พร้อม ตอร์ปิโดรุ่นแรกๆของเยอรมันก็มีปัญหามาก ขัดข้องบ่อย ส่งผลให้การปิดล้อมอังกฤษในช่วงแรกๆไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้ภายหลังเยอรมันจะสามารถเร่งต่อเรือดำน้ำจนมีจำนวน 300 ลำตามแผนได้ในปี ค.ศ.1943 แถมกำลังพลที่อาสามาเป็นนักเรือดำน้ำก็มีไม่ขาดสาย (ค่าตอบแทนดี + การโฆษณาชวนเชื่อ) แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสม ไม่สามารถเร่งได้คือประสบการณ์ เยอรมันอาจต่อเรือดำน้ำที่ทันสมัยขึ้นและผลิตนักเรือดำน้ำออกมาได้จำนวนมากระหว่างสงคราม แต่นักเรือดำน้ำที่ฝึกมาใหม่ก็ขาดประสบการณ์ ไม่สามารถทดแทนกำลังพลที่มีฝีมือที่สูญเสียไปได้ เป็นสาเหตุหนึ่งให้เยอรมันพ่ายแพ้สงครามเรืออูในที่สุด ไทยต้องใช้เรื่องนี้เป็นบทเรียน ถ้าจะมีเรือดำน้ำ ก็ต้องจัดหาเรือมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้กำลังพลมีเวลาฝึกซ้อม สั่งสมประสบการณ์ ยุทโธปกรณ์บางอย่างอาจซื้อมือสองส่งมอบได้เร็วก็จริง แม้จะไม่เร็วเท่าสั่งของลาซาด้าแบบที่หลายคนเข้าใจ (ย้ำอีกครั้งว่าเรือดำน้ำ S26T จากจีน ไทยสั่งต่อมือหนึ่ง) แต่ประสบการณ์ของกำลังพลต้องใช้เวลาสั่งสม ฝึกให้เกิดความคุ้นเคยให้มากที่สุด ไม่มีทางลัด

บทเรียนถัดมาคือเรือดำน้ำ แม้จะเทพแค่ไหน ก็ไม่สามารถปฏิบัติการตามลำพังได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากยุทโธปกรณ์ประเภทอื่นๆด้วย ในสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากเรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) จมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1941 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ก็สั่งห้ามไม่ให้ส่งเรือรบผิวน้ำออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกอีก ประกอบกับกองทัพเรือเยอรมันเป็นเหมือนลูกเมียน้อย ถูกกองทัพอากาศหรือลุฟท์วัฟเฟอ (Luftwaffe) แย่งทรัพยากรรวมถึงอากาศยานไปหมด แถมยังขาดการประสานงานระหว่างเหล่าทัพด้วย (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตอนที่เรือประจัญบานบิสมาร์คจม ไม่มีเครื่องบินรบเยอรมันออกมาคุ้มกันแม้แต่ลำเดียว) ส่งผลให้กองเรือดำน้ำเยอรมันต้องออกปฏิบัติการตามลำพัง ในขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทุ่มเททรัพยากรทุกอย่าง ทั้งเรือผิวน้ำ อากาศยาน ฯลฯ ในการต่อต้านเรือดำน้ำ ดังนั้นต่อให้เรือดำน้ำเยอรมันจะทันสมัยหรือมีลูกเรือที่มีฝีมือแค่ไหน ก็มีข้อจำกัดอยู่ ไม่สามารถรับมือจุดเด่นของยุทโธปกรณ์ทุกอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามทุ่มเข้ามาได้

พูดถึงบทเรียนเกี่ยวกับปฏิบัติการของเรือดำน้ำไปพอสมควรแล้ว มาต่อกันที่การต่อต้านเรือดำน้ำบ้าง แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะใช้เรือผิวน้ำและอากาศยาน ติดตั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัย ปราบเรืออูของเยอรมันได้อย่างเด็ดขาดในช่วงกลางปี ค.ศ.1943 แต่ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายตรงข้ามมีเพียงเรือดำน้ำเท่านั้น เยอรมันแทบไม่ได้ส่งเรือรบผิวน้ำหรืออากาศยานออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกเลย ส่งผลให้อังกฤษซึ่งขณะนั้นเป็นจักรวรรดิ เป็นมหาอำนาจทางทะเล มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลก และสหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก สามารถทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างในการพัฒนาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ในการปราบเรือดำน้ำเยอรมันได้เต็มที่ ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยไม่ได้มีกำลังคน ทรัพยากร และความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีมากเหมือนฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้ถ้าเกิดเหตุปะทะกับเพื่อนบ้าน กำลังรบของฝ่ายตรงข้ามย่อมไม่ได้มีเฉพาะเรือดำน้ำ แต่จะมีเรือรบผิวน้ำและอากาศยานด้วย ไทยไม่สามารถจะแบ่งกำลังมาไล่ล่าเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามได้เต็มที่ การมีเรือดำน้ำจึงดีกว่าไม่มี ถึงตรงนี้หลายคนอาจแย้งว่าการใช้เรือดำน้ำในการปราบเรือดำน้ำด้วยกันก็ทำได้ยากและไม่นิยมเช่นกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าการใช้งานเรือดำน้ำของไทยนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ในเชิงป้องกัน รอตั้งรับอยู่ในอ่าวไทยอย่างเดียว แต่สามารถส่งออกทะเลไปปิดอ่าวหรือจมเรือฝ่ายตรงข้ามในน่านน้ำศัตรูได้ด้วย (อย่างไรก็ตามต้องมีการสนับสนุนอย่างเหมาะสมตามที่ผมพูดถึงไปแล้ว) กดดันให้ฝ่ายตรงข้ามต้องเป็นฝ่ายแบ่งกำลังเรือผิวน้ำและอากาศยานมาต่อต้านเรือดำน้ำของเราแทน

กล่าวโดยสรุป จากบทเรียนปฏิบัติการของเรือดำน้ำและการต่อต้านเรือดำน้ำในยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติกในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถทั้งการโจมตีและป้องกัน ทั้งการจัดหาเรือดำน้ำ และระบบต่อต้านเรือดำน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ควรทุ่มเทหรือละเลยขีดความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะยุทโธปกรณ์ไม่ว่าจะเทพแค่ไหนก็ไม่สามารถปฏิบัติการตามลำพังได้ จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนกันและกันอยู่เสมอ จึงจะสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สวัสดี

15.07.2020

แสดงความคิดเห็น