เบลารุส “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์” บทเรียนสำหรับประเทศไทย

ภาพการสวนสนามครบรอบวันประกาศเอกราชของเบลารุส ปี 2017 (http://mil.ru/)

มีข่าวจากสื่อ Sputnik เมื่อวันพฤหัสที่ 16 กรกฎาคม ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโก (Alexander Lukashenko) ของเบลารุสได้ประชุมร่วมกับคณะนายทหารระดับสูง เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพเบลารุสให้ทันสมัย มีประเด็นน่าสนใจที่ลูคาเชงโกกล่าว สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ 2 ประเด็นครับ

ประเด็นแรก ลูคาเชงโกกล่าวถึงแนวทางปฏิรูปกองทัพเบลารุส ว่าอาศัยบทเรียนจากการศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวการสู้รบในปัจจุบันทั้งในอัฟกานิสถาน อิรัก เชชเนีย ซีเรีย และลิเบีย แล้วปรับหลักนิยมตาม โดยในช่วงที่ผ่านมาเบลารุสมีการปรับหลักนิยมใหม่ถึง 4 ครั้งเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในสงครามสมัยใหม่

จะเห็นได้ว่าแม้ที่ผ่านมาเบลารุสจะไม่ได้ทำสงครามกับใคร รวมถึงแทบไม่ได้ส่งทหารออกไปนอกประเทศเลย แต่ก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารในต่างประเทศตลอด นำบทเรียนมาประยุกต์ใช้ ปฏิรูปกองทัพ ปรับหลักนิยมตามความเปลี่ยนแปลง ประเด็นนี้ควรใช้เป็นแบบอย่างครับ เพราะสงครามสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องปรับตัวให้ทันอยู่ตลอด แม้เราจะยังไม่ทำสงครามกับใครก็ตาม ถ้าเกิดเหตุจำเป็นขึ้นมาก็ต้องพร้อมรับมือ เรียนรู้จากอดีต จะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอย ยกตัวอย่างการส่งยานเกราะออกปฏิบัติการโดยไม่มีทหารราบคุ้มกันเพียงพอ ส่งผลให้ถูกซุ่มโจมตีได้ง่าย รัสเซียผิดพลาดมาแล้วในเชชเนีย แต่หลังจากนั้นกองทัพรัฐบาลซีเรียก็ทำผิดพลาดแบบเดียวกัน แล้วก็ตุรกีซึ่งสูญเสียรถถัง Leopard-2A4 ถูกกลุ่ม IS สอยไปเป็นสิบคัน ทั้งที่ตุรกีก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งอาวุธให้กบฏซีเรีย น่าจะรู้เกี่ยวกับยุทธวิธีนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังพลาดแบบเดียวกัน ตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว ประเทศไทยควรต้องติดตามศึกษาไว้ ไม่จำเป็นต้องผิดพลาดแบบเดียวกัน

ประเด็นที่สอง ลูคาเชงโกกล่าวถึงสงครามโลกครั้งที่สองหรือมหาสงครามรักชาติ (The Great Patriotic War) ซึ่งสหภาพโซเวียตถูกเยอรมนีรุกรานโดยไม่ทันตั้งตัว และเบลารุสก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ว่าปัจจุบันชายแดนของเบลารุสได้รับการป้องกันดีกว่าสมัยก่อนมาก ไม่มีทางที่เบลารุสจะถูกโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัวอีกแล้ว เขายังพูดถึงสุภาษิต 2 ข้อคือ “ดินปืนต้องเก็บให้แห้งเสมอ” และ “คนที่ไม่เลี้ยงดูทหารชาติตัวเอง ในอนาคตจะต้องเลี้ยงดูทหารต่างชาติ” ถ้าเทียบกับของประเทศไทยก็คงจะเป็น “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์”

ประเทศเบลารุสมีชายแดนติดกับโปแลนด์ทางตะวันตก เยื้องไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเลยไปหน่อยคือแคว้นคาลินินกราดของรัสเซีย ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร ทางเหนือติดรัฐบอลติก ทางตะวันออกติดรัสเซีย และทางใต้คือยูเครน (เบลารุสไม่มีทางออกทะเล) เรียกว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ท่ามกลางคมหอกคมดาบ ต้องดำเนินนโยบายถ่วงดุลระหว่างรัสเซียและ NATO ให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจเป็นแบบยูเครน กองทัพเบลารุสจำเป็นต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อป้องปราม ในช่วงที่ผ่านมาเบลารุสกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนมาพัฒนาอาวุธเช่นจรวดหลายลำกล้อง Polonez ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องจรวด DTI ของไทย นอกเหนือจากการจัดหาอาวุธจากรัสเซียตามปกติ สถานการณ์ของเบลารุสค่อนข้างใกล้เคียงกับประเทศไทย แม้ไทยจะไม่ได้มีเขตแดนติดกับประเทศมหาอำนาจโดยตรง มีเพื่อนบ้านเป็นกันชนให้ แต่ไทยก็เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งมหาอำนาจโดยรอบทั้งสหรัฐฯ จีน และอินเดียต่างต้องการแผ่อิทธิพลเข้ามา และความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในปัจจุบันก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องให้ความสนใจติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านทั้งการทูตและการทหาร เพื่อไม่ให้กลายเป็นสนามประลองกำลังสงครามตัวแทนของประเทศมหาอำนาจ นอกจากนี้ถ้าสหรัฐฯและจีนขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบกดดันถึงไทย ไทยก็ควรต้องมีตัวเลือกที่สามมาถ่วงดุล ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่ารัสเซียสามารถตอบโจทย์นี้ได้

สวัสดี

17.07.2020

แสดงความคิดเห็น