ตุรกียืนยันจะรักษาความปลอดภัยข้อมูลระบบป้องกันภัยทางอากาศเอส-400

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย ตั้งแสดงที่ Park Patriot (Vitaly Kuzmin)

หลังจากก่อนหน้านี้มีสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯเสนอให้สหรัฐฯซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 Triumf หรือชื่อ NATO คือ SA-21 Growler จากตุรกี เพื่อตัดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ตุรกี สหรัฐฯจะได้ไม่ต้องคว่ำบาตรตุรกีตามกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA ทางรัสเซียก็แสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล S-400 กลัวว่าข้อมูลจะตกไปอยู่ในมือสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามทางตุรกีได้ประกาศยืนยันว่าจะรักษาความปลอดภัยข้อมูลของ S-400 เต็มที่ แถมยังเปิดเผยด้วยว่าตุรกีมีแผนจะรวม S-400 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศของตุรกี

https://tass.com/defense/1179535

ในช่วงเวลาเดียวกัน ตุรกีก็กำลังเจรจากับรัสเซียเพื่อจัดหา S-400 ล็อตที่สองต่อไป

https://tass.com/defense/1178937

ส่วนตัวผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจในข่าวนี้อยู่ที่ตุรกีมีแผนจะรวม S-400 เข้ากับเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศของตุรกีนี่แหละครับ ที่ผ่านมาสหรัฐฯและ NATO พยายามขัดขวางไม่ให้ตุรกีจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 หรือ FD-2000 จากจีน (โครงการล่มไปแล้ว) และล่าสุดก็ S-400 จากรัสเซีย โดยใช้ข้ออ้างว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศเหล่านี้ไม่เข้ากับระบบ NATO แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็ไม่ยอมขายระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot ให้ตุรกีในเงื่อนไขที่ตุรกีต้องการคือต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เท่ากับว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศ NATO ที่ตุรกีใช้อยู่ปัจจุบันมีเพียงระบบป้องกันภัยทางอากาศ MIM-23 Hawk ผลิตในสหรัฐฯซึ่งเป็นของเก่าจากยุค 60 และระบบป้องกันภัยทางอากาศ Rapier ผลิตในอังกฤษเท่านั้น นอกนั้นล้วนเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ตุรกีผลิตเองเช่น HISAR ซึ่งตุรกีสามารถโมระบบเองได้ ทางออกที่เหมาะสมที่สุดของตุรกีจึงเป็นการสร้างเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศของตัวเอง แล้วค่อยๆรวมระบบป้องกันภัยทางอากาศผลิตโดยประเทศอื่นๆเข้ามา เท่านี้ตุรกีก็สามารถจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศได้จากทุกประเทศแล้ว (ถ้าผู้ผลิตยอมขาย) ไม่ต้องอิงระบบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนี้การที่ตุรกียืนยันจะรักษาความปลอดภัยข้อมูล S-400 ของรัสเซีย แม้จะมีประเด็นขัดแย้งกับรัสเซียในลิเบียและซีเรีย ก็แสดงให้เห็นว่าตุรกีต้องการรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซีย ถ่วงดุลสหรัฐฯ เพื่อจะได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบอิสระให้มากที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของตุรกี สังเกตว่าที่ผ่านมาตุรกีและรัสเซียมักหลีกเลี่ยงการปะทะกันซึ่งหน้า พยายามใช้วิธีแบ่งผลประโยชน์กันมากกว่า ไม่ว่ากองกำลังที่เป็นตัวแทนทั้งสองฝ่ายจะปะทะกันหนักแค่ไหนก็ตาม

สวัสดี

17.07.2020

แสดงความคิดเห็น