
ขณะที่สหรัฐฯและองค์การ NATO กำลังถูกทดสอบในสงครามลิเบีย อีกด้านหนึ่งเหตุปะทะระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานก็กำลังเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัสเซียและองค์การ CSTO เช่นกัน
CSTO คืออะไร ? CSTO หรือ Collective Security Treaty Organization องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน (ก่อนหน้านี้อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และอุซเบกิสถานก็เคยเป็นสมาชิก CSTO แต่ถอนตัวไปแล้ว) CSTO มีข้อตกลงกำหนดให้ประเทศสมาชิกงดเว้นการใช้กำลังระหว่างกัน และการรุกรานจากภายนอกต่อสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง จะถือเป็นการรุกรานสมาชิกทั้งหมด พูดง่ายๆคือ CSTO ก็คือ NATO ของรัสเซียนั่นเอง เมื่ออาร์เมเนียเป็นสมาชิกของ CSTO ในทางทฤษฎีถ้าถูกอาเซอร์ไบจานรุกราน ประเทศสมาชิกที่เหลือรวมถึงรัสเซียก็ต้องเข้ามาช่วย แต่ในทางปฏิบัติสถานการณ์มีความซับซ้อนกว่านั้นครับ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่ประเทศต่างๆจะเข้าร่วมองค์การพันธมิตรทางทหาร ปกติประเทศเหล่านั้นจะต้องมีศัตรูภายนอกร่วมกัน เช่น NATO และ Warsaw Pact สมัยสงครามเย็น (เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว จึงเกิดคำถามถึงความจำเป็นที่จะต้องมี NATO ไว้ต่อไป เป็นสาเหตุหนึ่งที่ตะวันตกต้องสร้างภาพรัสเซียเป็นผู้ร้ายนั่นเอง) แต่สมาชิก CSTO กลับมีข้อพิพาทระหว่างสมาชิกด้วยกันเองเป็นหลัก เช่นข้อพิพาทระหว่างอาร์เมเนียและอดีตสมาชิกคืออาเซอร์ไบจาน นอกจากนี้จุดประสงค์หลักของรัสเซียในการก่อตั้ง CSTO ก็ไม่ใช่การรับมือศัตรูร่วมภายนอกของประเทศสมาชิก แต่เป็นการรักษาอิทธิพลของรัสเซียในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ถ่วงดุลกับอิทธิพลของมหาอำนาจภายนอกเช่นจีน สังเกตว่าเมื่อมีองค์การระหว่างประเทศอะไรก็ตามที่จีนและรัสเซียเป็นผู้นำร่วมกัน รัสเซียจะต้องก่อตั้งองค์การคู่ขนานที่รัสเซียเป็นผู้นำเพียงประเทศเดียวขึ้นมาด้วยเสมอ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อรัสเซียและจีนมีองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization – SCO) ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง รัสเซียก็ต้องมีองค์การ CSTO ด้านการทหารและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union – EAEU) ด้านเศรษฐกิจ แยกออกมาต่างหาก เมื่อเป้าหมายของรัสเซียในการก่อตั้งองค์การเหล่านี้ชัดเจนว่าเป็นการรักษาอิทธิพลของรัสเซีย (ต่างจาก NATO ที่มีการสร้างภาพศัตรูภายนอกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้คนทั่วไปโฟกัสที่อิทธิพลของสหรัฐฯมากเกินไป) ก็ส่งผลให้สมาชิก CSTO หลายประเทศเกิดความระแวงรัสเซียเองด้วยซ้ำ ดำเนินนโยบายต่างประเทศแตกแถวเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นเบลารุสที่แม้จะเป็นสมาชิก CSTO ควรต้องช่วยเหลืออาร์เมเนีย แต่กลับขายอาวุธทันสมัยอย่างจรวดหลายลำกล้อง Polonez ให้อาเซอร์ไบจานใช้ถ่วงดุลขีปนาวุธ Iskander-E ที่รัสเซียขายให้อาร์เมเนียเสียเอง เป็นต้น
นอกจากนี้รัสเซียเองก็ต้องการมีความสัมพันธ์กับทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นประเทศอดีตสหภาพโซเวียตทั้งคู่ ทั้งสองประเทศใช้อาวุธค่ายโซเวียต (รัสเซีย) เป็นหลักแม้ช่วงหลังอาเซอร์ไบจานจะจัดหาอาวุธจากตุรกีและอิสราเอลมากขึ้นก็ตาม อาเซอร์ไบจานมีที่ตั้งอยู่ติดทะเลแคสเปียน มีบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เศรษฐกิจดี มีรายได้มาจัดหายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆจากรัสเซียจำนวนมากเช่นรถถัง T-90S, รถรบทหารราบ BMP-3, จรวดต่อสู้รถถัง Kornet ฯลฯ ในขณะที่อาร์เมเนียไม่มีทางออกทะเล เศรษฐกิจไม่ดี แรงงานจำนวนมากอพยพไปทำงานที่รัสเซีย ส่งผลให้มีงบประมาณในการจัดหายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ค่อนข้างจำกัด ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ยังเป็นอาวุธยุคโซเวียตเช่นรถถัง T-72, รถรบทหารราบ BMP-2 ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ก่อนหน้านี้รัสเซียขายอาวุธที่เป็น equalizer อย่างขีปนาวุธ Iskander-E ระยะยิง 280 กิโลเมตรให้อาร์เมเนียโดยเฉพาะ พูดง่ายๆคือไม่ว่าอาเซอร์ไบจานจะสะสมยุทโธปกรณ์ทันสมัยจำนวนมากแค่ไหน อาร์เมเนียก็มีขีปนาวุธ Iskander-E ไว้ถ่วงดุล ทำนองเดียวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและอิหร่านนั่นแหละครับ อย่างไรก็ตามดุลอำนาจดังกล่าวที่รัสเซียวางไว้ได้ถูกทำลายไปแล้วเมื่ออาเซอร์ไบจานจัดหาจรวดหลายลำกล้อง Polonez จากเบลารุสซึ่งเป็นสมาชิก CSTO และขีปนาวุธ LORA จากอิสราเอล ตอนนี้ข้อได้เปรียบของอาร์เมเนียจึงมีเพียงเครื่องบินขับไล่ Su-30SM ที่พึ่งจัดหาจากรัสเซีย (กองทัพอากาศอาเซอร์ไบจานมีเพียงเครื่องบินขับไล่ MiG-29)
จะเห็นได้ว่าข้อพิพาทระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัสเซียและองค์การ CSTO ว่าจะบริหารจัดการความขัดแย้งนี้อย่างไร เพื่อรักษาความร่วมมือและความเป็นเอกภาพในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งปกติก็มีความเปราะบาง ถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกแผ่อิทธิพลเข้ามาอยู่แล้ว ไม่ให้กระจัดกระจายกันไปมากกว่านี้
สวัสดี
21.07.2020