
รัฐสภาอียิปต์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุญาตให้ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซีส่งกองทัพอียิปต์ออกปฏิบัติการนอกประเทศ “บริเวณชายแดนด้านตะวันตก” ต่อกรกับ “กลุ่มอาชญากรติดอาวุธ” และ “กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ” เพื่อปกป้องความมั่นคงของอียิปต์
แม้มติของรัฐสภาอียิปต์จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศไหนเฉพาะเจาะจง แต่ทุกคนก็รู้กันโดยอัตโนมัติครับว่าหมายถึงลิเบีย
https://www.dw.com/en/egypts-parliament-approves-troop-deployment-in-libya/a-54247567
เชื่อว่าหลายท่านคงตื่นตกใจกับข่าวนี้ ว่าอาจจะเกิดสงครามระหว่างตุรกีและอียิปต์ แต่ส่วนตัวผมคิดว่ายังไม่จำเป็นต้องตื่นตูมครับ การที่รัฐสภาอียิปต์ให้ไฟเขียวให้กองทัพอียิปต์เข้าแทรกแซงลิเบีย ไม่ได้หมายความว่ากองทัพอียิปต์ต้องข้ามชายแดนเข้าไปจริงๆครับ เมื่อหลายปีก่อนตอนที่การสู้รบในยูเครนรุนแรง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินก็เคยขออนุมัติรัฐสภาส่งกองทัพรัสเซียเข้าแทรกแซงยูเครนเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ส่งกองทัพรัสเซียเข้าไป (โดยเปิดเผย) ในกรณีของอียิปต์ ความจริงอียิปต์ก็ไม่ต้องการเปิดหน้ารบกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติลิเบียที่กรุงตริโปลีและตุรกีโดยตรง เป้าหมายของอียิปต์คือการป้องกันไม่ให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งรัฐบาลตริโปลีและตุรกีสนับสนุนเข้ามาประชิดชายแดนด้านตะวันตก เป็นสาเหตุที่อียิปต์ให้การสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลิเบีย เพื่อเป็นกันชนนั่นเอง ถ้ารัฐบาลตริโปลีและตุรกียอมหยุดการรุกไว้ที่เมืองเซอร์เตและฐานทัพอากาศจูฟรา ตามที่อียิปต์ประกาศขู่ไว้ก่อนหน้านี้ ให้อียิปต์ใช้พื้นที่ภาคตะวันออกของลิเบียเป็นกันชน ก็ไม่มีความจำเป็นที่กองทัพอียิปต์ต้องข้ามชายแดนเข้าไป ปัญหาคือฝั่งรัฐบาลตริโปลีและตุรกีก็ต้องการยึดเมืองเซอร์เตให้ได้ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมแหล่งพลังงานของลิเบีย ช่วงหลายวันที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายจึงมีการเสริมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ซ้อมรบขู่กันไปมา พูดง่ายๆคือทั้งสองฝ่ายกำลังเปิดไพ่ออกมาทีละใบ เอาอำนาจต่อรองขึ้นมาวางบนโต๊ะเจรจานั่นเอง ถ้าสุดท้ายฝ่ายรัฐบาลตริโปลีและกองทัพแห่งชาติลิเบียตกลงหยุดยิงกันได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้สนับสนุนอย่างตุรกีและอียิปต์จะต้องปะทะกันโดยตรงครับ มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและรัสเซียก็ไม่ต้องการให้สงครามขยายตัวเช่นกัน
สวัสดี
21.07.2020