อินโดนีเซียสนใจยูโรไฟเตอร์ไทฟูนมือสองจากออสเตรีย

ภาพเครื่องบินขับไล่ Eurofighter Typhoon ของกองทัพอากาศออสเตรีย (Markus Zinner/ Bundesheer)

ช่วงนี้มีข่าวความสนใจจัดหาอาวุธแปลกๆของอินโดนีเซียออกมาอย่างต่อเนื่องครับ ล่าสุดมีข่าวในสื่อ Die Presse ของออสเตรียระบุว่ารัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซียส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีกลาโหมออสเตรีย เสนอซื้อเครื่องบินขับไล่ Eurofighter Typhoon จำนวน 15 ลำของกองทัพอากาศออสเตรีย อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมออสเตรียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้

เครื่องบินขับไล่ Typhoon ของออสเตรียเป็นรุ่น Tranche-1 ซึ่งออกแบบมาสำหรับการรบทางอากาศเป็นหลัก มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการสูงมาก เป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ตอนที่ออสเตรียจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้เมื่อปี ค.ศ.2002 มูลค่าโครงการ 2 พันล้านยูโร ถึงขั้นมีการฟ้องร้องบริษัท Airbus ด้วย สุดท้ายเมื่อออสเตรียแบกรับค่าใช้จ่ายในการใช้งาน Typhoon ไม่ไหว จึงตัดสินใจจะปลดประจำการ Typhoon เมื่อปี ค.ศ.2017 (ปัจจุบันยังใช้งานอยู่)

https://www.thejakartapost.com/news/2020/07/20/indonesia-offers-to-buy-austrias-typhoon-jetfighters.html

https://www.defensenews.com/global/asia-pacific/2020/07/20/indonesia-says-it-wants-to-buy-austrias-entire-typhoon-fighter-fleet/

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียแสดงความสนใจเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่หลายรุ่นมากครับ ได้แก่ Su-35 จากรัสเซีย, Rafale จากฝรั่งเศส, F-16V และ F-35 จากสหรัฐฯ ล่าสุดก็ Typhoon มือสองจากออสเตรีย แต่ยังไม่มีการจัดหาจริงเลย ดีล Su-35 ก็ยังคาราคาซัง ส่วนตัวผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งก็มาจากสถานะทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็ไม่ค่อยจะดี ไม่สามารถทุ่มงบประมาณจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ที่มีราคาสูงได้

เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข่าวในสื่อ Jane’s ระบุว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาจัดหาอาวุธด้วยวิธีการค้าต่างตอบแทนหรือเคาน์เตอร์เทรด กล่าวคือเมื่ออินโดนีเซียสั่งซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ประเทศผู้ผลิตอาวุธนั้นก็ต้องซื้อสินค้าจากอินโดนีเซียเช่นน้ำมันปาล์ม พลาสติก ยาง กาแฟ โกโก้ ปลา ผลไม้ ฯลฯ เป็นการตอบแทน

https://www.janes.com/defence-news/news-detail/covid-19-indonesia-looks-to-expand-countertrade-options

ในมุมมองของผู้ซื้อ การซื้ออาวุธด้วยวิธีเคาน์เตอร์เทรดย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะผู้ซื้อไม่ได้เสียเงินให้ผู้ผลิตไปเฉยๆ แต่ได้การลงทุนหรือคำสั่งซื้อสินค้าเป็นการตอบแทนด้วย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในมุมมองของผู้ผลิตย่อมต้องการผลตอบแทนกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องการเคาน์เตอร์เทรด ด้วยเหตุนี้ผู้ซื้อจึงต้องหาอำนาจต่อรองมาเจรจา วิธีการหนึ่งคือการหาตัวเลือกผู้ผลิตสินค้าหลายๆรายมาแข่งขันกัน ผู้ผลิตแต่ละรายย่อมต้องพยายามแข่งขันกันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด หนึ่งในนั้นอาจรวมถึงการเคาน์เตอร์เทรดด้วย การค้าเสรีจงเจริญ (ฮา) น่าจะเป็นสาเหตุที่ช่วงที่ผ่านมาอินโดนีเซียแสดงความสนใจจัดหาเครื่องบินขับไล่หลายๆรุ่น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเคาน์เตอร์เทรดครับ

สวัสดี

21.07.2020

คลิปเครื่องบินขับไล่ Eurofighter Typhoon ของกองทัพอากาศออสเตรีย

แสดงความคิดเห็น