ข้อเสนอแนะ: ไทยควรฝึกหน่วยกู้ภัยร่วมกับรัสเซีย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจัดหาเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย-ดับไฟป่า Ka-32A11BC (หรือ Ka-32A11VS ถ้าแปลตามอักษรซีริลลิก) จำนวน 2 ลำจากรัสเซีย ระหว่างปี 2017 – 2018 และรับมอบช่วงปลายปี 2019 หลังรับมอบได้ไม่ทันไร ก็ได้ออกงานดับไฟป่าทางภาคเหนือของไทยทันที และยังคงปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า แสดงผลงานมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เรียกว่าใช้งานได้คุ้มค่ามาก ล่าสุดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาไทยมีโครงการจัดหา Ka-32 เพิ่มอีก 2 ลำ และในอนาคตเชื่อว่าจะมีการจัดหาเพิ่มเติมอีกครับ

คลิปเฮลิคอปเตอร์ Ka-32 ของไทย จาก Thaiarmedforce.com

นอกจากเฮลิคอปเตอร์ Ka-32 แล้ว ก็ยังมีเฮลิคอปเตอร์ที่ไทยจัดหาจากรัสเซียอีกรุ่นหนึ่งคือเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง Mi-17V5 ของกองทัพบก ซึ่งสามารถนำมาใช้ในภารกิจกู้ภัยและดับไฟป่าได้เช่นเดียวกัน โชว์ผลงานมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ก่อนไทยจะจัดหา Ka-32 เสียอีก

เฮลิคอปเตอร์ Mi-17V5 ของกองทัพบกไทยในการฝึกแพทย์ทหาร-กู้ภัย AM-HEx-2016 จาก Battlefield Defense

เมื่อหน่วยงานของประเทศไทยมีการใช้งานเฮลิคอปเตอร์รัสเซียในภารกิจค้นหากู้ภัย-ดับไฟป่าอย่างแพร่หลาย ก็น่าจะมีการฝึกร่วมกันระหว่างหน่วยงานกู้ภัยของไทยกับรัสเซีย ทำนองเดียวกับที่มีการฝึกร่วมกับจีนและสหรัฐฯ

หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆของรัสเซีย ทั้งหน่วยกู้ภัยและดับเพลิงอยู่ในสังกัดกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉิน ชื่อย่อคือ MChS (МЧС) หรือ EMERCOM เป็นกระทรวงที่ใหญ่ มีบุคลากรมากเป็นกองทัพขนาดย่อมเลยทีเดียว รัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงนี้ก็คือพลเอกเซอร์เก ชอยกู (Sergey Shoygu) ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีกลาโหมนั่นเอง ในช่วงที่ผ่านมา EMERCOM ของรัสเซียมีภารกิจดับไฟป่าทั้งในไซบีเรียและภาคตะวันออกไกล นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือหลายประเทศดับไฟป่าเช่นอิสราเอล ชิลี เป็นต้น ถ้าหน่วยกู้ภัยไทยจัดการฝึกร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับหน่วยกู้ภัยรัสเซียก็จะเป็นประโยชน์มากครับ ที่สำคัญคือประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนรัสเซีย มีคนรัสเซียมาเที่ยวประเทศไทยปีละมากกว่า 1 ล้านคน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ถ้าหน่วยงานของไทยเคยฝึกร่วมกับหน่วยงานของรัสเซียไว้ก่อนก็จะประสานงานกันได้ง่ายขึ้น (กรณี 13 หมูป่า ทาง EMERCOM ของรัสเซียก็เสนอความช่วยเหลือมาเช่นกัน แต่ไทยไม่ได้ตอบรับ)

คลิปประชาสัมพันธ์ EMERCOM รัสเซีย

สำหรับลักษณะการฝึกที่ผมคิดไว้เบื้องต้น เนื่องจากทั้งไทยและรัสเซียมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด อาจจัดการฝึกแบบปีเว้นปีก็ได้ โดยไทยและรัสเซียสลับกันเป็นเจ้าภาพ อุปกรณ์การฝึกเน้นใช้ของประเทศเจ้าภาพเป็นหลัก ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนสร้างความคุ้นเคย เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในส่วนของประเทศไทยก็อาจให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยแชร์งบประมาณกัน (ภายหลังอาจให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมด้วยก็ได้) การฝึกเบื้องต้นอาจเน้นที่การดับไฟป่าก่อน แล้วค่อยๆขยายให้ครอบคลุมทั้งการค้นหากู้ภัย การลำเลียงผู้บาดเจ็บ การดับเพลิง ฯลฯ ถ้ารัสเซียนำเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก Beriev Be-200 มาฝึกที่ประเทศไทยด้วย ก็จะได้พิสูจน์ให้เห็นกันเลยว่าเครื่องบินดับไฟป่ามีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

การจัดการฝึกหน่วยกู้ภัยร่วมกันระหว่างไทยและรัสเซียนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างหน่วยกู้ภัยทั้งสองประเทศแล้ว ยังเป็นการดึงรัสเซียเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐฯและจีนแบบเนียนๆ ไม่โจ่งแจ้งเกินไปเหมือนความร่วมมือด้านการทหาร เป็นประโยชน์ต่อการถ่วงดุลอำนาจของประเทศไทยด้วย

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าข้อเสนอแนะนี้มีประโยชน์ ผมคิดว่าช่วงเวลาที่กิจกรรมระหว่างประเทศส่วนใหญ่หยุดชะงักจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะใช้ในการเตรียมการและติดต่อประสานงานกับทางรัสเซียไว้ล่วงหน้า ในอนาคตเมื่อการระบาดยุติลง มีวัคซีนแล้ว สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ตามปกติจะได้เริ่มดำเนินการฝึกร่วมได้เลย ไม่เสียเวลาครับ

สวัสดี

25.07.2020

ภาพนักเรียนนายร้อยหญิง EMERCOM ของรัสเซียยืนรักษาการณืบริเวณอนุสรณ์สถานในเมืองวลาดิวอสต็อก วันที่ 7 พฤษภาคม ปี 2015 (Vasily Knyazev/ 123RF)

แสดงความคิดเห็น