การที่ตุรกีจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐฯและ NATO อย่างรุนแรง เริ่มจากข้ออ้างมาตรฐานว่าระบบอาวุธไม่เข้ากัน ไปจนถึงความกลัวว่า S-400 ของตุรกีจะเก็บข้อมูลเครื่องบินรบของ NATO รวมถึงเครื่องบินขับไล่ F-35 รุ่นล่าสุดส่งไปให้รัสเซีย นำไปสู่การขับไล่ตุรกีออกจากโครงการ F-35 และในอนาคตอาจจะมีมาตรการคว่ำบาตรตุรกีตามกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA ของสหรัฐฯ ราวกับว่าการที่ประเทศสมาชิก NATO มีระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียอยู่ในครอบครองถือเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวง แต่ทว่าความจริงตุรกีไม่ใช่สมาชิก NATO ประเทศแรกที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลของรัสเซียในครอบครอง มีสมาชิก NATO อีก 3 ประเทศคือบัลแกเรีย สโลวาเกีย และกรีซมีระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ใช้งานอยู่ และดูเหมือนว่า NATO โดยเฉพาะสหรัฐฯไม่มีปัญหากับประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด แถมบัลแกเรียก็พึ่งจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-16 Block 70 จากสหรัฐฯไปสดๆร้อนๆด้วย
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของบัลแกเรียเป็นรุ่น S-300P เป็น S-300 รุ่นแรกๆที่เข้าประจำการในสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1978 บัลแกเรียมีรถฐานยิง S-300P จำนวน 10 คันแบ่งเป็น 2 ระบบๆละ 5 คัน

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของสโลวาเกียเป็นรุ่น S-300PMU ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของ S-300PS พัฒนาต่อยอดมาจาก S-300P อีกทีหนึ่ง มีระยะยิงไกลสุด 75 กิโลเมตร ได้รับตกทอดมาจากเชโกสโลวาเกียซึ่งเป็นอดีตประเทศในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) หลังแยกประเทศกับสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกียมี S-300PMU จำนวน 1 ระบบ มีจรวดในคลัง 48 ลูก ทำการยิงไปแล้ว 3 ลูกระหว่างการซ้อมรบเหลืออยู่ 45 ลูก นายกฯ สโลวาเกียประกาศเมื่อปี 2015 แสดงความสนใจจะร่วมมือกับรัสเซียอัพเกรดระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของสโลวาเกียซึ่งใช้งานมานาน แต่หลังจากนั้นข่าวก็เงียบไปก็ไม่มีความคืบหน้า สาเหตุน่าจะมาจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกและรัสเซียที่กำลังตึงเครียดกรณียูเครนและซีเรีย

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของกรีซเป็นรุ่น S-300PMU1 รุ่นเดียวกับของเวียดนาม เป็นรุ่นส่งออกของ S-300PM1 พัฒนาขึ้นระหว่างปี 1985 – 1989 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1992 มีระยะยิงไกลสุด 150 กิโลเมตร กรีซไม่ได้จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้จากรัสเซียโดยตรง แต่จัดหาต่อจากไซปรัสอีกทีหนึ่ง เนื่องจากในปี 1997 ไซปรัสได้เซ็นสัญญาจัดหา S-300PMU1 จากรัสเซียแล้วข่าวรั่วออกสื่อ ส่งผลให้ตุรกีซึ่งยึดครองพื้นที่ทางเหนือของไซปรัสอยู่ไม่พอใจ มองเป็นภัยคุกคาม ขู่จะโจมตีไซปรัสก่อนจะมีโอกาสติดตั้ง S-300PMU1 ทางด้านรัสเซียและกรีซก็เตรียมมาช่วยไซปรัสกรณีที่ถูกตุรกีโจมตี สุดท้ายเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงสงคราม จึงมีการทำข้อตกลงใหม่ช่วงปลายปี 1998 ให้ส่งมอบ S-300PMU1 ของไซปรัสให้กรีซแทน โดยมีที่ตั้งอยู่ที่เกาะครีต กรีซทำการทดสอบยิง S-300PMU1 ครั้งแรกในปี 2013 หลังจากได้รับมอบมานานถึง 14 ปี
ถึงตรงนี้ผู้อ่านน่าจะสังเกตเห็นว่าสมาชิก NATO ทั้งสามประเทศล้วนไม่ได้จัดหา S-300 จากรัสเซียโดยตรง แต่ได้รับตกทอดมาจากสมัยอยู่ใน Warsaw Pact ไม่ก็รับมอบต่อจากประเทศอื่นอีกที แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้เคลียร์ข้อสงสัยเรื่องความคอมม่อนกับระบบอาวุธของ NATO รวมถึงไม่ได้การันตีว่าข้อมูลอากาศยานของ NATO ที่ปฏิบัติการร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศเหล่านี้จะไม่ถูกส่งต่อให้รัสเซียด้วย (ถ้า S-400 ของตุรกีสามารถส่งข้อมูลให้รัสเซียได้จริง) ด้วยเหตุนี้จึงสามารถสรุปได้ว่าข้ออ้างที่สหรัฐฯใช้ขับไล่ตุรกีออกจากโครงการเครื่องบินขับไล่ F-35 อ้างว่าระบบอาวุธไม่เข้ากันและ S-400 จะส่งข้อมูลให้รัสเซียนั้นฟังไม่ขึ้น ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง ความจริงคือสหรัฐฯไม่ต้องการให้ตุรกีจัดหา S-400 เพราะถ้าตุรกีจัดหา S-400 จากรัสเซีย ก็เท่ากับเป็นการยืนยันถึงขีดความสามารถของ S-400 จะส่งผลให้มีประเทศต่างๆสนใจจัดหามากขึ้น เป็นการเพิ่มลูกค้าและรายได้ให้บริษัทอาวุธของรัสเซีย ส่งผลกระทบกับบริษัทอาวุธของสหรัฐฯ
สวัสดี
28.07.2020