
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อวานนี้ ว่าสหรัฐฯยังคงพิจารณาแนวทางตอบสนองต่อการที่ตุรกีจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย รวมถึงแนวทางการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อบรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯ พูดง่ายๆคือจนถึงขณะนี้สหรัฐฯก็ยังไม่มีไอเดียแน่นอนว่าจะจัดการกับตุรกีอย่างไร ที่ไปจัดหา S-400 จากรัสเซีย ละเมิดกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA
ทางด้านตุรกีก็ยังยืนยันข้อเสนอเดิมให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับ NATO เพื่อยืนยันว่าการที่ตุรกีใช้งาน S-400 ไม่เป็นภัยคุกคามต่อเครื่องบินขับไล่ F-35 ของสหรัฐฯ
สหรัฐฯออกกฎหมาย CAATSA เมื่อปี 2017 ห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆจัดหาอาวุธจากรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือไม่อย่างนั้นจะถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร กฎหมายฉบับนี้สภาคองเกรสเป็นต้นคิด มัดมือชกให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกกฎหมายนี้ช่วงที่สื่อกำลังปั่นกระแสข่าวรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้เพราะเป็นการจำกัดแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯเองแต่ไม่สามารถขัดสภาคองเกรสได้
แม้ช่วงที่ผ่านมากฎหมาย CAATSA จะส่งผลให้โครงการจัดหาอาวุธรัสเซียของหลายประเทศหยุดชะงักไปบ้าง เช่นโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Su-35 ของอินโดนีเซีย โครงการจัดหารถถัง T-90MS ของคูเวต ฯลฯ แต่ก็ส่งผลให้สหรัฐฯขัดแย้งกับพันธมิตรสำคัญหลายประเทศเช่นตุรกี อินเดีย อียิปต์ ฯลฯ เมื่อประเทศเหล่านี้ไม่ยอมหยุดจัดหาอาวุธจากรัสเซีย ไม่ว่าจะเพราะมีความจำเป็นต้องใช้ หรือต้องการท้าทายสหรัฐฯก็ตาม สหรัฐฯก็มีปัญหาต้องตัดสินใจแล้วว่าจะคว่ำบาตรประเทศเหล่านี้แล้วเสียพันธมิตร หรือจะไม่คว่ำบาตร แล้วทำให้กฎหมาย CAATSA ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ต่อไปประเทศอื่นๆก็จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สังเกตว่าที่ผ่านมาแม้จะมีประเทศที่จัดหาอาวุธรัสเซียจากทั่วโลก แต่มีประเทศที่ถูกคว่ำบาตรด้วยกฎหมาย CAATSA เพียงประเทศเดียวเท่านั้นคือจีน ส่วนประเทศอื่นเรื่องยังคงคาราคาซังเช่นอินเดียและตุรกี ที่น่าสนใจคือถ้าประเทศไหนจัดหาอาวุธจากรัสเซียแบบเงียบๆ ไม่เป็นข่าวมากนักเช่นแอลจีเรีย อาร์เมเนีย ไทย ฯลฯ สหรัฐฯก็แทบจะไม่เอากฎหมาย CAATSA มายุ่งเลย อาจกล่าวได้ว่าสหรัฐฯเองก็ไม่ต้องการใช้กฎหมาย CAATSA แต่ถูกกฎหมายที่ตัวเองออกมัดมือชกอยู่ อย่างกรณี S-400 ของตุรกี แค่ตุรกีไม่เปิดใช้งานและไม่จัดหาชุดที่สองเพิ่ม ทรัมป์ก็จะปล่อยผ่านแล้ว ที่ยังเป็นประเด็นอยู่เพราะถูกสภาคองเกรสกดดันเท่านั้นเอง
สวัสดี
31.07.2020