ในบทความนี้เราจะมาพิจารณาขีดความสามารถระบบป้องกันภัยทางอากาศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยกันบ้าง เนื่องจากปกติจะไม่มีข้อมูลข่าวสารทางทหารของลาวเผยแพร่ออกมามากนัก ดังนั้นการหาข้อมูลว่าลาวมีระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นไหนบ้าง ผมก็จะใช้หนึ่งในวิธีการที่สหรัฐฯใช้หาข้อมูลยุทโธปกรณ์ของสหภาพโซเวียตสมัยสงครามเย็นคือดูจากงานสวนสนามครับ (ฮา)
จากงานสวนสนามของกองทัพลาวจะเห็นได้ว่าหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของลาวมีปืนต่อสู้อากาศยานและระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้-กลางเป็นกำลังรบหลัก
1.ปืนต่อสู้อากาศยาน ZU-23-2 ผลิตในสหภาพโซเวียต
ตัวอักษร ZU ย่อมาจากคำภาษารัสเซีย “ซีนิทนาย่า อุสตานอฟก้า” แปลว่าปืนต่อสู้อากาศยาน ตัวเลข 23 คือขนาดความกว้างปากลำกล้อง 23 มิลลิเมตร ตัวเลข 2 คือจำนวนลำกล้อง 2 ลำกล้อง ตรงตัวเรียบง่าย ปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นนี้เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ปัจจุบันยังคงมีการใช้งานแพร่หลายทั่วโลก บางประเทศเช่นรัสเซียและยูเครนมีการนำ ZU-23-2 มาติดตั้งบนรถบรรทุกเป็นปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรเพื่อเพิ่มความคล่องตัว ส่วนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางมักนำไปติดหลังรถกระบะโตโยต้า อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ากองทัพลาวจะยังใช้ ZU-23-2 ลากจูงด้วยรถบรรทุกอยู่ครับ ZU-23-2 มีอัตราการยิงสูงถึง 2,000 นัดต่อนาที (ลำกล้องละ 1,000 นัด) ระยะยิงหวังผล 2.5 กิโลเมตร สามารถนำมาใช้ยิงสนับสนุนภาคพื้นดินได้ กระสุนขนาด 23 มิลลิเมตรมีอานุภาพมากพอจะใช้ทำลายยานเกราะส่วนใหญ่ยกเว้นรถถัง

2.ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Yi-Tian ผลิตในจีน
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Yi-Tian เกิดจากการนำจรวด TY-90 ระยะยิง 6 กิโลเมตร เข้าสู่สายการผลิตช่วงยุค 90 มาติดตั้งบนรถหุ้มเกราะล้อยาง Type-92 หรือ WZ-551
3. ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K35 Strela-10 ผลิตในสหภาพโซเวียต
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K35 Strela-10 หรือชื่อ NATO คือ SA-13 Gopher เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1976 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ ออกแบบมารับมือเป้าหมายที่เพดานบินต่ำ ใช้จรวด 9M37 ระยะยิง 5 กิโลเมตร ติดตั้งบนรถสายพาน MT-LB ค้นหาเป้าหมายด้วยอินฟราเรด

4.ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 Pechora ผลิตในสหภาพโซเวียต
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 Pechora หรือชื่อ NATO คือ SA-3 Goa เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลาง (บางแหล่งจัดเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้) เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1961 (รุ่นที่โซเวียตใช้เองคือ Neva ส่วน Pechora คือรุ่นส่งออก) ออกแบบมาใช้งานคู่กับระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-25 Berkut (SA-1 Guild) และ S-75 Dvina (SA-2 Guideline) ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 ใช้จรวด V-600 มีระยะยิง 35 กิโลเมตร

แม้หน่วยป้องกันภัยทางอากาศลาวจะมีเพียงระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลาง ไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลเช่น S-300 เหมือนเวียดนาม แต่ส่วนตัวผมมองว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศประเภทนี้ก็เหมาะสมกับขนาดและสภาพภูมิประเทศของลาวแล้ว ลาวเป็นประเทศเล็ก ถูกล้อมด้วยประเทศที่มีขนาดใหญ่และประชากรมากกว่าคือจีน ไทย เวียดนาม แม้แต่กัมพูชาจริงๆแล้วก็มีจำนวนประชากร กำลังพล และยุทโธปกรณ์มากกว่าลาว ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางจึงเพียงพอจะป้องกันน่านฟ้าลาว โดยระยะยิงไม่ล้ำเข้าไปในน่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไป ไม่ก่อให้เกิดความตึงเครียด นอกจากนี้สภาพภูมิประเทศของลาวส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีสิ่งกีดขวางระยะตรวจจับเรดาร์ของระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลมาก เป็นช่องโหว่ให้เครื่องบินรบฝ่ายตรงข้ามเข้าโจมตีได้ การใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางร่วมกับใช้สภาพภูมิประเทศในการซ่อนพรางตัวจึงน่าจะเหมาะสมกว่าการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกล ปัญหาอยู่ที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของลาวเกือบทั้งหมดเป็นของเก่าจากยุคสงครามเย็น ตั้งแต่ยุค 60 – 70 มีเพียงระบบป้องกันภัยทางอากาศ Yi-Tian จากจีนเท่านั้นที่ผลิตขึ้นช่วงยุค 90 ถ้าในอนาคตลาวมีงบประมาณพอจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางรุ่นใหม่ๆเช่น Pantsir-S1, Tor และ Buk หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของลาวจะมีแสนยานุภาพน่ากลัวขึ้นมากครับ
สวัสดี
04.08.2020