ความจำเป็นของระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับกองทัพไทย

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ VL MICA ในงาน Paris Air Show 2015 (Tiraden/ Wikimedia Commons)

กองทัพไทยใช้หลักนิยมทางทหารของสหรัฐฯและ NATO ซึ่งใช้เครื่องบินรบเป็นกำลังหลัก ระบบป้องกันภัยทางอากาศมีความสำคัญในระดับรองลงมา การป้องกันภัยทางอากาศของไทยในปัจจุบันพึ่งพาเครื่องบินขับไล่ขับไล่ของกองทัพอากาศเป็นหลัก ส่วนระบบป้องกันภัยทางอากาศของไทยมีเพียง KS-1C พิสัยกลาง ระยะยิง 70 กิโลเมตรจากจีนจำนวน 1 ระบบและ VL MICA พิสัยใกล้ ระยะยิง 20 กิโลเมตรจากฝรั่งเศสจำนวน 1 ระบบเท่านั้น (VL MICA ของไทยมีรถฐานยิงไม่ครบด้วย ความจริงระบบหนึ่งต้องมี 4 คัน แต่ไทยมีงบประมาณไม่พอจึงจัดหารถฐานยิงมาแค่ 2 คัน บางคนจึงพูดว่าไทยมี VL MICA “ครึ่ง” ระบบ) ส่วนที่เหลือเป็นปืนต่อสู้อากาศยานและ MANPADS แม้การป้องกันภัยทางอากาศแบบนี้จะมีจุดอ่อนในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามสามารถฝ่าเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศเข้ามาได้ น่านฟ้าไทยก็แทบจะเปิดโล่งเลย แต่สำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำกัดอย่างไทย ถ้าต้องเลือกระหว่างเครื่องบินขับไล่และระบบป้องกันภัยทางอากาศอย่างใดอย่างหนึ่ง เครื่องบินขับไล่ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะมีความคล่องตัว สามารถใช้ในภารกิจที่หลากหลายกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศ

อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องบินขับไล่เป็นกำลังหลักในการป้องกันภัยทางอากาศจะได้ผลดีที่สุดต่อเมื่อไทยมีกำลังทางอากาศเหนือกว่าเพื่อนบ้านเท่านั้น ปัญหาอยู่ที่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ กำลังรบของกองทัพอากาศไทยจะลดลงทั้งจำนวนฝูงบินที่บางฝูงอาจต้องใช้ T-50TH แทนที่เครื่องบินขับไล่ และจำนวนเครื่องบินรบในฝูง จากเดิมที่ในฝูงหนึ่งควรมีเครื่องบินรบ 16 – 18 ลำ ในอนาคตอาจเหลือเพียง 12 – 14 ลำต่อฝูงเท่านั้น ต้องเข้าใจว่าแม้ T-50TH ของไทยจะถูกอัพสเปกมาขนาดไหน ก็ไม่สามารถทดแทนเครื่องบินขับไล่แท้ๆได้ ในส่วนของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าอย่าง F-35 ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าไทยจะสามารถจัดหาได้เร็วๆนี้ ต่อให้ในอนาคตราคาซื้อจะถูกลง งบประมาณของกองทัพอากาศก็อาจไม่พอรองรับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการอยู่ดี ในขณะที่เพื่อนบ้านมีการเสริมกำลังรบต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเครื่องบินขับไล่ Su-30 ที่มีอยู่รอบไทย ขณะที่ไทยมีเครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen C/D เพียง 11 ลำไม่ครบฝูง แม้ไทยจะมี F-16 และ F-5 ที่ผ่านการอัพเกรดมาแล้วรองรับอยู่ แต่เกือบทั้งหมดมีอายุการใช้งานเกิน 20 – 30 ปีแล้ว อีกไม่นานก็ต้องทยอยปลดประจำการ สำหรับเครื่องบินขับไล่ที่จะมาทดแทนก็น่าจะยังเป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 ส่วนตัวผมสนับสนุน Gripen E/F มากกว่า F-16V

เมื่อกำลังทางอากาศของไทยมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ยกเว้นจะมีการเพิ่มงบประมาณให้กองทัพอากาศ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันคงไม่อำนวย การจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มให้หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพบก และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งของกองทัพเรือเพิ่มเติม (เพื่อไม่ให้กระทบงบประมาณจัดหาเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศ) เพื่อเสริมขีดความสามารถการป้องกันภัยทางอากาศของไทยในอนาคตจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณาครับ

สำหรับตัวเลือกระบบป้องกันภัยทางอากาศ พิจารณาจากที่กองทัพไทยใช้ยุทโธปกรณ์ค่าย NATO เป็นหลักและได้มีการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ VL MICA จากฝรั่งเศส และปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon GDF 007 คู่กับเรดาร์ Skyguard 3 จากเยอรมนี-สวิตเซอร์แลนด์มาแล้ว เครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศในอุดมคติก็ควรจะมีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลาง-ไกล Aster-30 SAMP/T เป็นศูนย์กลาง 2 ระบบ เสริมด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ VL MICA จำนวน 4 – 6 ระบบ อุดช่องว่างด้วยปืนต่อสู้อากาศยานและ MANPADS เคลื่อนย้ายที่ตั้งสลับกันไปตามพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่พิพาท แค่นี้ไทยก็จะมีเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคแล้ว แต่อย่างที่ผมกล่าวไว้ว่านี่คืออุดมคติ ติดขัดที่งบประมาณอีกเช่นกัน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า VL MICA ที่ไทยจัดหามา 1 ระบบนั้นมีรถฐานยิงไม่ครบ ปกติต้องมี 4 คัน แต่ไทยสามารถจัดหามาได้เพียง 2 คัน แค่นี้ก็ใช้งบประมาณไปถึง 3,500 ล้านบาทแล้ว การจัดหา VL MICA เพิ่มอีกหลายๆระบบหรือแม้แต่จะเอื้อมขึ้นไปถึง Aster-30 นี่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ระบบป้องกันภัยทางอากาศจากจีนและรัสเซียจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับประเทศไทย นอกจากราคาจะถูกกว่าแล้ว (เช่น KS-1C ราคาไม่ถึง 1,000 ล้านบาท, Pantsir-S1 ราคาระบบละประมาณ 500 ล้านบาท ฯลฯ ขณะที่ FD-2000, S-300 หรือ S-400 แม้จะมีราคาแพงแต่ก็ยังถูกกว่า Patriot) ยังได้ถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจด้วย เพราะระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นยุทโธปกรณ์ที่สามารถใช้งานแบบสแตนอโลนได้ ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนลงทุนมากเท่าเครื่องบินขับไล่ ส่วนตัวผมคิดว่าสำหรับประเทศไทย การมี Pantsir-S1 จำนวน 6 ระบบ ป้องกันพื้นที่สำคัญหลายๆแห่ง น่าจะเหมาะสมมากกว่าการมี VL MICA ระบบเดียว ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ดีที่สุด อาจไม่ได้เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดก็ได้ ถ้าไทยไม่มีงบประมาณพอจะจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศดังกล่าวให้ครบระบบ หรือจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถใช้งานร่วมกันได้มาจัดตั้งเป็นเครือข่าย การจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศจากจีนและรัสเซียจึงน่าจะเหมาะสมสำหรับไทยมากกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศจากสหรัฐฯและ NATO

สวัสดี

08.08.2020

แสดงความคิดเห็น