รัสเซียเตือนว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธทุกชนิดต่อรัสเซีย จะถือเป็นการโจมตีด้วยนิวเคลียร์

ภาพขีปนาวุธข้ามทวีป RS-24 Yars ของรัสเซีย วันแห่งชัยชนะปี 2019 (http://mil.ru/)

รัสเซียออกประกาศเตือนผ่านสื่อทหาร Zvezda ว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธทุกชนิดต่อรัสเซีย จะถือว่าเป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด และรัสเซียจะตอบโต้การโจมตีดังกล่าวด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากไม่มีทางที่รัสเซียจะตรวจสอบได้ว่าขีปนาวุธที่ยิงเข้ามาติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ จึงต้องอนุมานว่าติดหัวรบนิวเคลียร์ไว้ก่อน ประกาศเตือนนี้มีขึ้นหลังจากรัสเซียแก้ไขหลักนิยมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธตามแบบได้ ถ้าการโจมตีดังกล่าวส่งผลต่อขีดความสามารถในการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/08/07/world/politics-diplomacy-world/russia-warns-will-deem-incoming-missile-nuclear/#.XzECOYgzbIU

ปัจจุบันสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามเย็นถูกยกเลิกไปเกือบหมดแล้ว โดยสหรัฐฯเป็นฝ่ายยกเลิกก่อนทั้งสิ้น เหลือเพียงสนธิสัญญาอาวุธทางยุทธศาสตร์ New START ซึ่งกำลังจะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และสหรัฐฯก็อาจไม่ยอมต่ออายุสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย รัสเซียมองว่าการไม่ต่ออายุสนธิสัญญา New START ถือเป็นหายนะ เพราะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก

https://tass.com/defense/1186717

แล้วเหตุใดรัสเซียจึงให้ความสนใจการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่ไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์และอาวุธตามแบบด้วย ถึงขนาดต้องกำหนดหลักนิยมใหม่ให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้อาวุธดังกล่าวได้ ? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าระหว่างอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทางยุทธศาสตร์ กับอาวุธตามแบบหรืออาวุธทางยุทธวิธีมีเส้นบางๆคั่นอยู่ อาวุธทางยุทธศาสตร์บางชนิดสามารถนำไปใช้ในทางยุทธวิธีได้ เช่นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์, เรือดำน้ำนิวเคลียร์ เป็นต้น อาวุธตามแบบหลายชนิดก็สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ เช่นเครื่องบินขับไล่ค่าย NATO หลายรุ่นที่กำหนดคุณสมบัติว่าต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯได้ เป็นต้น

นอกจากความไม่ชัดเจนในการแบ่งแยกระหว่างอาวุธตามแบบและอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯยังมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธตามแบบให้ใช้โจมตีเป้าหมายได้ทั่วโลก เช่นโครงการ Prompt Global Strike (PGS) ซึ่งมีเป้าหมายจะใช้อาวุธไฮเทคต่างๆเช่นจรวดไฮเปอร์โซนิค อาวุธพลังงานจลน์ ฯลฯ ทำลายคลังอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย (และจีน) ก่อนจะมีโอกาสตอบโต้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอาวุธไฮเทคดังกล่าวยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์ เบื้องต้นสหรัฐฯจึงคิดจะใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปที่ไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ทดแทนไปก่อน เป็นสาเหตุที่รัสเซียต้องเตือนว่าถ้าสหรัฐฯใช้ขีปนาวุธไม่ว่าจะติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ รัสเซียจะถือว่าเป็นการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ และต้องตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ไว้ก่อน เพราะไม่มีทางที่จะแยกแยะหัวรบขีปนาวุธดังกล่าวจากภายนอกได้

นอกจากนี้ในทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯยังได้เปรียบรัสเซียมาก สหรัฐฯสามารถล้อมรัสเซียด้วยระบบป้องกันขีปนาวุธตามแบบ จรวดร่อน และในอนาคตอาจจะมีขีปนาวุธพิสัยกลางด้วย สหรัฐฯสามารถโจมตีรัสเซียด้วยจรวดร่อนเช่น Tomahawk ยิงจากเรือรบและ JASSM ยิงจากอากาศยาน เสริมด้วยขีปนาวุธข้ามทวีปยิงจากแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯและขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ ขณะเดียวกันระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD และ Aegis Ashore ที่ตั้งล้อมรัสเซียอยู่ก็สามารถใช้สกัดขีปนาวุธข้ามทวีปของรัสเซียตั้งแต่พึ่งปล่อยจากฐานยิง โดยเฉพาะ Aegis Ashore นี่อาจใช้เป็นระบบโจมตียิงจรวดร่อน Tomahawk ได้ด้วย เพราะใช้เรดาร์และท่อยิงเดียวกับจรวด SM-3 เมื่อภัยคุกคามต่อดุลอำนาจนิวเคลียร์ของรัสเซีย ไม่ได้มีแค่อาวุธทางยุทธศาสตร์ แต่ยังรวมถึงอาวุธตามแบบด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่รัสเซียจะต้องปรับหลักนิยมใหม่ให้สอดคล้องกัน รวมถึงประกาศเตือนฝ่ายตรงข้ามเพื่อป้องปรามครับ

สวัสดี

10.08.2020

แสดงความคิดเห็น