
สงครามกับรัสเซียนำไปสู่จุดจบของหลายมหาอำนาจในประวัติศาสตร์ เช่นจักรวรรดิสวีเดนในศตวรรษที่ 18, จักรวรรดิฝรั่งเศสของนโปเลียนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 และจักรวรรดิไรฌ์ที่สาม หรือนาซีเยอรมนีของฮิตเลอร์ในศตวรรษที่ 20 เป็นต้น เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการบุกรัสเซียของนโปเลียนในปี ค.ศ.1812 และการบุกสหภาพโซเวียตของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ.1941 นำไปสู่การเสื่อมอำนาจของผู้นำทั้งสอง เหตุใดกองทัพของมหาอำนาจทางทหารที่ถือว่ามีแสนยานุภาพมากที่สุดในยุคสมัยนั้นๆล้วนมาพบจุดจบในรัสเซีย ? หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะฤดูหนาวที่ทารุณของรัสเซีย แต่ถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นว่าทั้งนโปเลียนและฮิตเลอร์ไม่ได้บุกรัสเซียช่วงฤดูหนาวแต่อย่างใด กองทัพฝรั่งเศสและเยอรมันล้วนข้ามชายแดนรัสเซียในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูร้อนทั้งสิ้น แล้วเหตุใดการรบจึงยืดเยื้อไปถึงฤดูหนาว ? ฤดูหนาวเป็นปัจจัยสำคัญในความพ่ายแพ้ของนโปเลียนและฮิตเลอร์จริงหรือ ? เราจะมาค้นหาคำตอบในบทความนี้กันครับ
นโปเลียนบุกรัสเซีย ค.ศ.1812
กองทัพใหญ่ La Grande Armée ของนโปเลียนข้ามแม่น้ำนีมาน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลิทัวเนีย) ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแกรนด์ดัชชีแห่งวอร์ซอซึ่งอยู่ภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส และรัสเซียในวันที่ 24 มิถุนายน ปี ค.ศ.1812 กองทัพของนโปเลียนมีกำลังพลมากกว่า 600,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารฝรั่งเศสประมาณ 300,000 นาย นอกนั้นเป็นกำลังพลจากพันธมิตรเช่นรัฐเยอรมันต่างๆในสมาพันธรัฐไรน์ (ขณะนั้นเยอรมนียังไม่รวมประเทศ) แกรนด์ดัชชีแห่งวอร์ซอ (โปแลนด์) ออสเตรีย ปรัสเซีย ฯลฯ ถือเป็นกองทัพใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
ช่วงก่อนหน้านี้นโปเลียนรบชนะมาตลอด จุดแข็งของนโปเลียนคือความเร็ว เพราะในสงครามตั้งแต่หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมา ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายถูกรุมจากชาติมหาอำนาจยุโรปในขณะนั้นที่เกลียดกลัวอิทธิพลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีกำลังพลมากกว่าแต่มาจากหลายประเทศ นโปเลียนจึงต้องอาศัยความเร็วเคลื่อนทัพฝรั่งเศสเข้าตีทัพฝ่ายตรงข้ามทีละทัพ ไม่ให้มีโอกาสรวมตัวกันได้ ในส่วนของการส่งกำลังบำรุง นโปเลียนก็ใช้วิธีให้ทหารไปปล้นชิงจากพื้นที่ที่กองทัพฝรั่งเศสไปตั้งทัพอยู่ ลดปัญหาในการจัดการส่งกำลังบำรุงจากประเทศฝรั่งเศส หลักนิยมของนโปเลียนคือต้องทำศึกตัดสินเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้อย่างรวดเร็ว บีบให้ทำสัญญาสงบศึกภายใต้เงื่อนไขที่ฝรั่งเศสได้เปรียบ
แต่ทว่าในการบุกรัสเซียครั้งนี้ กองทัพรัสเซียกลับไม่ออกมารบด้วย แต่ค่อยๆถอยทัพลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ล่อให้นโปเลียนต้องยกทัพติดตามไป ขณะเดียวกันรัสเซียก็ใช้นโยบาย Scorched earth เผาทำลายหมู่บ้าน ยุ้งฉาง ฯลฯ ตลอดเส้นทางถอยทัพ ไม่ให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์ได้ กองทัพฝรั่งเศสขาดแคลนเสบียงอาหาร ประกอบกับเกิดโรคระบาด ส่งผลให้เสียทหารและม้าไปจำนวนมาก นอกจากนี้เส้นทางถอยทัพของรัสเซีย ล่อให้กองทัพของนโปเลียนมุ่งลงใต้ออกห่างจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัสเซียในสมัยนั้นไปเรื่อยๆ กว่ากองทัพฝรั่งเศสจะได้ปะทะกับรัสเซียก็ที่เมืองสโมเลนสค์ในเดือนสิงหาคม (ถึงตอนนั้นนโปเลียนเสียทหารไปแล้วเกือบ 100,000 นายและอีกประมาณ 50,000 นายกระจัดกระจายกลายเป็นกองโจร) และที่โบโรดิโนในเดือนกันยายน แม้ฝรั่งเศสจะเป็นฝ่ายชนะในสมรภูมิทั้งสองแห่ง โดยทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียทหารจำนวนมาก แต่นโปเลียนก็ไม่สามารถเอาชนะรัสเซียแบบเด็ดขาดได้ กองทัพรัสเซียยังถอยทัพไปเรื่อยๆ นโปเลียนยกทัพเข้ากรุงมอสโก เมืองหลวงเก่าแก่ของรัสเซียในวันที่ 14 กันยายน (เปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมัยนั้นเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเปรียบเสมือนกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ในขณะที่มอสโกคือเกียวโต) แต่ไม่พบใครเลย เพราะประชาชนได้อพยพออกไปหมดแล้วพร้อมกับนำเสบียงอาหารส่วนใหญ่ไปด้วย จากนั้นกองกำลังของรัสเซียที่ซุ่มอยู่ในกรุงมอสโกก็จัดการเผาเมืองจนราบ ไม่ให้กองทัพฝรั่งเศสใช้ประโยชน์ได้ เน้นย้ำว่าเหตุการณ์จนถึงขณะนี้เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น ยังไม่เข้าหน้าหนาวแต่อย่างใด
ถึงตอนนี้นโปเลียนเริ่มเคว้งแล้ว เนื่องจากไม่มีทีท่าว่ารัสเซียจะยอมแพ้ จะยกทัพกลับขึ้นไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็สายไปแล้ว กองทัพฝรั่งเศสอ่อนล้าขาดเสบียงอาหาร สุดท้ายนโปเลียนจึงตัดสินใจถอยทัพออกจากกรุงมอสโกในช่วงกลางเดือนตุลาคม ตอนนี้เองที่ฤดูหนาวเริ่มมาเยือน กองทัพฝรั่งเศสขาดแคลนเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาว เสบียงอาหารก็หมด ต้องฆ่าม้าเอาเนื้อมาย่างกิน ซึ่งก็ส่งผลให้ขาดแคลนพาหนะในการลำเลียงปืนใหญ่และสัมภาระอื่นๆ แถมยังถูกกองทัพรัสเซีย รวมถึงทหารม้าคอสแซคไล่ตามตีตลอดเส้นทาง ส่งผลให้ทหารล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน มีความพยายามทำรัฐประหารในฝรั่งเศส นโปเลียนจึงต้องทิ้งกองทัพกลับไปแก้ไขสถานการณ์ ปล่อยให้นายทหารที่เหลือควบคุมแทน กองทัพฝรั่งเศสถอยทัพออกจากรัสเซียจนหมดในเดือนธันวาคม มีทหารรอดชีวิตกลับมาประมาณ 30,000 นายเท่านั้น นอกนั้นเสียชีวิตไปประมาณ 400,000 นาย ตกเป็นเชลย 100,000 นาย ที่เหลือแตกทัพกลายเป็นกองโจร
จะเห็นได้ว่านโปเลียนไม่ได้พ่ายแพ้ในการบุกรัสเซียปี ค.ศ.1812 เพราะฤดูหนาวแต่อย่างใด ฤดูหนาวเป็นเพียงตะปูตัวสุดท้ายตอกลงบนฝาโลงกองทัพฝรั่งเศสและพันธมิตรซึ่งอ่อนล้า ขาดแคลนเสบียงอาหาร ขวัญกำลังใจตกต่ำ ท่ามกลางซากปรักหักพังของกรุงมอสโกที่ถูกรัสเซียเผาวอดเท่านั้น ความพ่ายแพ้ในรัสเซียส่งผลให้นโปเลียนสูญเสียทหารที่มีฝีมือและม้าจำนวนมาก กองทัพฝรั่งเศสไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกเลย เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเสื่อมอำนาจของนโปเลียนในที่สุด
ฮิตเลอร์บุกสหภาพโซเวียต ค.ศ.1941
นาซีเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตตามปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า วันที่ 22 มิถุนายน ปี ค.ศ.1941 ใช้กำลังทหารเยอรมันและประเทศพันธมิตรอักษะถึง 160 กองพล กำลังพลมากกว่า 3,500,000 นาย รถถังประมาณ 3,350 คัน ยานเกราะอื่นๆประมาณ 3,500 คัน ปืนใหญ่ประมาณ 7,800 กระบอก เครื่องบินรบประมาณ 2,000 ลำ ยานยนต์อื่นๆ 600,000 คัน และม้า 600,000 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่มกองทัพ ทำการรุกตลอดแนวชายแดนสหภาพโซเวียตยาวหลายพันกิโลเมตรตั้งแต่ทะเลบอลติกถึงทะเลดำ เป็นปฏิบัติการรุกรานที่ใช้กำลังพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์
แม้กำลังพลที่เยอรมันใช้บุกสหภาพโซเวียตจะมีมากมายมหาศาล แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับนโปเลียน หลักนิยมสงครามสายฟ้าแลบหรือ Blitzkrieg ของเยอรมันกำหนดให้ต้องเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้อย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการทำสงครามยืดเยื้อ เยอรมันมีข้อจำกัดเรื่องขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุง กองทัพเยอรมันมียานพาหนะโดยเฉพาะรถกึ่งสายพานและรถบรรทุกไม่พอใช้ ต้องยึดรถของพลเรือนมาเสริม เพิ่มความซับซ้อนในการสำรองอะไหล่ ยานยนต์ส่วนใหญ่ถูกส่งให้หน่วยยานเกราะใช้ ขณะที่ทหารปืนใหญ่และหน่วยส่งกำลังบำรุงใช้รถม้าเป็นพาหนะหลัก ขณะที่หน่วยทหารราบบางหน่วยมีรถม้าสำหรับลำเลียงสัมภาระเท่านั้น ส่วนตัวทหารราบต้องเดินเท้า ตัวอย่างที่น่าสนใจคือกองพลน้ำเงิน Blue Division ที่นายพลฟรังโกของสเปนส่งมาช่วยเยอรมันแบบไม่เป็นทางการ (สเปนประกาศตัวเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่สอง) กำลังพลในกองพลนี้ดูโฆษณาชวนเชื่อสงครามสายฟ้าแลบของเยอรมันแล้วตื่นตาตื่นใจมาก นึกว่าจะได้รถบรรทุกมาใช้ แต่สุดท้ายกลับได้ม้ามาประมาณ 5,000 ตัวแทน แถมคนสเปนที่อาสามาช่วยเยอรมันส่วนใหญ่เป็นคนเมืองไม่มีประสบการณ์ดูแลม้ามาก่อน ส่งผลให้ม้าตายไปจำนวนมาก การที่เยอรมันพึ่งพารถม้าในการส่งกำลังบำรุงส่งผลอย่างมากต่อปฏิบัติการในพื้นที่กว้างใหญ่อย่างสหภาพโซเวียต เพราะเมื่อยานเกราะทำการรุกไกลออกไปเรื่อยๆ ก็เป็นการยากสำหรับรถม้าที่จะติดตามหน่วยยานเกราะได้ทัน เยอรมันพยายามแก้ปัญหาด้วยการขนสัมภาระไปกับรถถังให้ได้มากที่สุด แต่ก็ส่งผลต่อขีดความสามารถในการรบของรถถังเอง
เมื่อเยอรมันมีข้อจำกัดในการส่งกำลังบำรุงในระยะทางไกล รวมถึงขาดทรัพยากรสำหรับทำสงครามยืดเยื้อ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาชนะโซเวียตให้ได้เร็วที่สุด ปัญหาคือเยอรมันไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรจึงจะชนะโซเวียตได้ ตอนแรกเยอรมันเชื่อว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ของโจเซฟ (ภาษารัสเซียคืออิโอซิฟ) สตาลิน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน รากฐานเปราะบาง แค่กองทัพเยอรมันบุกเข้าไป สักพักประชาชนก็จะลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มสตาลินเอง เปรียบเสมือนเป็นบ้านที่ผุพัง แค่ถีบประตูแรงๆ บ้านก็จะพังลงมาทั้งหลัง แต่เมื่อกองทัพเยอรมันรุกเข้าไปในสหภาพโซเวียตลึกเข้าไป กลับไม่มีการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลโซเวียตแต่อย่างใด แถมทหารโซเวียตหลายหน่วยสู้ยิบตาเช่นที่ป้อมเบรสต์ ตอนนี้เยอรมันทำใจแล้วว่าอาจต้องรุกเข้าไปถึงใจกลางสหภาพโซเวียต แต่จะไปที่ไหนก่อนล่ะ เลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ทางเหนือ เคียฟและยูเครนทางใต้ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโซเวียต หรือจะพุ่งตรงไปกรุงมอสโก นายทหารเยอรมันแตกเป็นหลายฝ่าย บ้างก็ต้องการให้กวาดล้างกองทัพแดงของโซเวียตให้หมด บ้างก็ต้องการให้ยึดแหล่งทรัพยากรเพื่อเตรียมทำสงครามระยะยาว บ้างก็ต้องการให้ยึดเมืองหลวงคือกรุงมอสโก เพราะเชื่อว่าถ้ายึดเมืองหลวงได้แล้วโซเวียตจะยอมแพ้ ซึ่งความจริงไม่มีอะไรการันตีได้ว่าถ้าเยอรมันยึดมอสโกได้แล้วโซเวียตจะยอมแพ้ ฮิตเลอร์ตัดสินใจให้กลุ่มกองทัพภาคกลางหยุดการรุก ส่งหน่วยยานเกราะไปสนับสนุนกลุ่มกองทัพภาคเหนือปิดล้อมเลนินกราด และกลุ่มกองทัพภาคใต้ยึดยูเครน
กองทัพเยอรมันยึดเคียฟได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าโซเวียตจะยอมแพ้ ฮิตเลอร์สั่งการให้เริ่มปฏิบัติการไทฟูน (ไต้ฝุ่น) บุกยึดกรุงมอสโกในวันที่ 2 ตุลาคม ถึงตอนนี้กองทัพเยอรมันอ่อนล้าเต็มทีแล้ว หลายหน่วยเหลือกำลังพลพร้อมรบไม่ถึงครึ่ง ยานยนต์ที่ยังใช้ได้เหลือแค่หนึ่งในสาม ขณะที่ฤดูหนาวก็กำลังใกล้เข้ามา ข้อจำกัดเรื่องการส่งกำลังบำรุงของเยอรมันส่งผลให้ไม่สามารถลำเลียงเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับฤดูหนาวมาส่งให้ทหารได้ทัน ขณะที่ฝ่ายโซเวียตยังมีขวัญกำลังใจดี อย่างไรก็ตามแม้กองทัพเยอรมันจะอ่อนกำลังลงมาก แต่ก็สามารถรุกเข้าไปประชิดกรุงมอสโกได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม จนหน่วยลาดตระเวณของเยอรมันสามารถมองเห็นยอดมหาวิหารเซนต์บาซิลได้ลิบๆแล้ว ก่อนที่การรุกจะหยุดชะงักในที่สุดเมื่อทหารเยอรมันไม่มีกำลังพอจะทำการรุกต่อไป ขณะที่ยานเกราะและอากาศยานไม่สามารถใช้งานได้ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ แม้ปฏิบัติการไทฟูนจะหยุดชะงัก แต่ถึงตอนนี้เยอรมันเชื่อว่าโซเวียตคงไม่มีกำลังสำรองเหลืออยู่แล้ว เยอรมันแค่ต้องรอให้ฤดูหนาวผ่านไปเท่านั้นปีหน้าก็จะสามารถยึดมอสโกได้ เป็นอีกครั้งที่หน่วยข่าวกรองเยอรมันทำงานผิดพลาด โซเวียตยังคงมีกำลังสำรองเหลืออยู่จำนวนมาก ประกอบกับการที่ญี่ปุ่นไม่ยอมร่วมมือกับเยอรมันบุกสหภาพโซเวียตจากทิศตะวันออก หันไปสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ส่งผลให้สตาลินสามารถย้ายกองหนุนจากไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลมาเสริมกำลังได้อีก โซเวียตเปิดฉากการรุกตอบโต้เยอรมันด้วยกำลังพลมากกว่า 1,100,000 นาย (ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของกำลังสำรองที่มีอยู่เท่านั้น) ฮิตเลอร์ออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันรักษาแนวรบไว้ ห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียว นายทหารเยอรมันที่คัดค้านหลายนายถูกปลด ถูกย้ายเป็นว่าเล่น แต่สุดท้ายกองทัพเยอรมันก็ถูกโซเวียตผลักดันให้ถอยไปไกลถึง 250 กิโลเมตรในเดือนมกราคม ปี 1942 ก่อนที่ฝั่งโซเวียตจะอ่อนกำลังลงเช่นกัน ไม่สามารถทำลายกลุ่มกองทัพภาคกลางของเยอรมันตามที่สตาลินต้องการได้
จะเห็นได้ว่าต่อให้ไม่มีฤดูหนาว เยอรมันก็มีกำลังรบไม่มากพอจะเอาชนะโซเวียตได้อยู่ดี ทันทีที่โซเวียตเปิดก๊อก ส่งกำลังสำรองและกองหนุนจากไซบีเรียเข้าตีโต้ กองทัพเยอรมันที่อ่อนล้าก็ต้องถอยร่นจากกรุงมอสโกอยู่ดี ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ความล้มเหลวของปฏิบัติการบาร์บารอสซ่าและไทฟูน นอกจากจะส่งผลให้เยอรมันต้องทำศึกยืดเยื้อสองด้านแล้ว (สามด้านถ้านับสมรภูมิในแอฟริกาเหนือด้วย) ยังลดทอนกำลังรบของเยอรมันไปมาก เห็นได้จากเยอรมันไม่สามารถเปิดการรุกใหญ่ตลอดแนวหน้าเหนือจรดใต้ในแนวรบด้านตะวันออกได้อีกเลย การรุกตามแผนน้ำเงินหรือ Case Blue ในปี 1942 จำกัดบริเวณแค่เทือกเขาคอเคซัสและแม่น้ำวอลกา (เมืองสตาลินกราด) เท่านั้น ขณะที่ปฏิบัติการซิทาเดลในปี 1943 จำกัดบริเวณอยู่แค่รอบเมืองคูร์ส เรียกว่าการรุกของเยอรมันมีสเกลเล็กลงเรื่อยๆตามกำลังรบที่ลดลง จากนั้นโซเวียตก็กลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง จนกระทั่งยึดกรุงเบอร์ลินได้ในปี 1945
นโปเลียนและฮิตเลอร์ไม่ได้บุกรัสเซียช่วงฤดูหนาว และฤดูหนาวก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของนโปเลียนและฮิตเลอร์ด้วย แต่เป็นเพียงหนึ่งในตะปูตัวท้ายๆที่ตอกลงบนฝาโลงแห่งความพ่ายแพ้ของทั้งสองเท่านั้น
สวัสดี
13.08.2020