จับตาสถานการณ์ในเบลารุส: จะมีไมดัน 2.0 หรือไม่ ?

ภาพประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโกของเบลารุส และวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย (kremlin.ru)

ปัจจุบันสถานการณ์ในเบลารุสวุ่นวายพอสมควรทีเดียว ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้อ่านสอบถามเรื่องเบลารุสเข้ามาหลายท่าน วันนี้ผมจะมาสรุปที่มาที่ไปของสถานการณ์ในเบลารุส รวมถึงบริบทการเมืองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

เบลารุสเป็นหนึ่งในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากที่สุดครับ เมื่อปี ค.ศ.1999 รัสเซียและเบลารุสเซ็นสนธิสัญญาสหภาพ Union State มีจุดประสงค์เพื่อบูรณาการระบบต่างๆภายในประเทศเข้าด้วยกัน ทำนองเดียวกับสหภาพยุโรปหรือ EU แต่ทั้งสองประเทศมองไปไกลกว่านั้นอีกคือท้ายที่สุดอาจมีการรวมประเทศกันเหมือนสหภาพโซเวียต ตัวอย่างการบูรณาการที่ได้ดำเนินการไปแล้วเช่นการเปิดชายแดนให้ประชาชนทั้งสองประเทศข้ามไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรี ใครที่เคยไปเที่ยวรัสเซียหรือเบลารุสน่าจะสังเกตว่าที่หัวกระดาษใบ ตม. Immigration Card จะมีชื่อประเทศทั้งรัสเซียและเบลารุส

อย่างไรก็ตามพอเริ่มบูรณาการสนธิสัญญาสหภาพไปได้สักพัก ทางเบลารุสก็เริ่มลังเล พยายามเตะถ่วงการดำเนินการของสนธิสัญญาสหภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเบลารุสเป็นประเทศเล็ก ประชากรเพียง 10 ล้านคน พลังอำนาจของประเทศน้อย เมื่อเทียบกับมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างรัสเซียที่มีประชากร 145 ล้านคน มีโอกาสที่รัสเซียจะกลืนเบลารุส ปัญหาคือแม้เบลารุสจะเริ่มไม่อยากบูรณาการสนธิสัญญาสหภาพกับรัสเซีย แต่เบลารุสยังต้องการผลประโยชน์จากสนธิสัญญาสหภาพแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นสามารถซื้อก๊าซจากรัสเซียได้ในราคาถูก ฝั่งรัสเซียก็ไม่ยอมสิ คนที่ติดตามข่าวต่างประเทศน่าจะเคยเห็นข่าวรัสเซียและเบลารุสทะเลาะกันเรื่องราคาก๊าซอยู่เนืองๆ สื่อตะวันตกก็จะอาศัยจังหวะนี้ประโคมข่าวว่ารัสเซียพยายามจะรุกรานยึดครองเบลารุสเหมือนยูเครน ทั้งที่ความจริงเป็นการดำเนินการตามสนธิสัญญาสหภาพเท่านั้น

เบลารุสมีความสำคัญอย่างไร ? แม้เบลารุสจะเป็นประเทศเล็ก ประชากรแค่ 10 ล้านคน แต่ที่ตั้งของเบลารุสคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทางเหนือติดสามรัฐบอลติก เยื้องๆไปหน่อยคือคาลินินกราดของรัสเซีย ทางตะวันตกติดโปแลนด์ ทางใต้ติดยูเครน ทางตะวันออกติดรัสเซีย ใกล้เมืองสโมเลนสค์ ถัดจากสโมเลนสค์ไปคือกรุงมอสโก จะเห็นได้ว่าเบลารุสคือหน้าด่านของกรุงมอสโก ปัจจุบันเมืองสำคัญที่สุดของรัสเซียมี 3 เมืองคือกรุงมอสโก เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเมืองโซชิ ผู้อ่านลองดูแผนที่ประกอบ ทางเหนือกองกำลัง NATO เข้าประชิดเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้วจากรัฐบอลติก ส่วนทางใต้เมื่อตะวันตกสนับสนุนกลุ่มนีโอนาซีทำรัฐประหารไมดันโค่นล้มอดีตประธานาธิบดียานูโควิชที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 (ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤตยูเครน แต่สื่อมักจงใจไม่กล่าวถึง) ยึดยูเครนได้ ก็สามารถคุกคามเมืองโซชิทางใต้ได้ มีดอนบาสเป็นกันชนอยู่ เหลือแค่ตอนกลางคือเบลารุส ซึ่งถ้าตะวันตกดึงมาเป็นพวกได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็จะสามารถจ่อคอหอยกรุงมอสโกได้เลย

เมื่อเบลารุสอยู่ท่ามกลางคมหอกคมดาบแบบนี้ จึงประกาศนโยบายเป็นกลาง แม้จะเอนเอียงไปทางรัสเซีย แต่ก็มีการดึงตะวันตกมาถ่วงดุลบ้าง เช่นเมื่อไม่นานนี้เบลารุสก็สั่งซื้อก๊าซจากสหรัฐฯเพื่อต่อรองราคากับรัสเซีย เป็นต้น รวมถึงพยายามหาทางเลือกที่สามคือจีนมาช่วยถ่วงดุลอีก ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างเบลารุสกับจีนได้แก่การพัฒนาจรวดหลายลำกล้อง Polonez หลังจากรัสเซียไม่ยอมขายขีปนาวุธ Iskander-E ให้เบลารุส เป็นต้น

ปัญหาคือลำพังการถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจภายนอกยังไม่เพียงพอจะนำพาประเทศให้อยู่รอด ภายในประเทศเองก็มีความสำคัญ เบลารุสไม่มีทางออกทะเล แถมยังถูกล้อมด้วยประเทศที่เป็นอริกันทุกด้าน อยู่ท่ามกลางคมหอกคมดาบ ทางเลือกในการค้าขายมีไม่มากนัก แถมประชากรที่เป็นแรงงานก็น้อย เศรษฐกิจเบลารุสจึงไม่มีการพัฒนาขยายตัวมากนัก ฝ่ายค้านของเบลารุสและตะวันตกจึงอาศัยจุดนี้เอาประชาธิปไตยมาขายฝันให้ประชาชน โฆษณาชวนเชื่อโจมตีประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโกที่ครองอำนาจมานานว่าเป็น “เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” ทางด้านลูคาเชงโกก็รู้ตัวดีว่าแผลเยอะ แผลล่าสุดคือความผิดพลาดในการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในการเลือกตั้งล่าสุดไม่กี่วันก่อน ลูคาเชงโกจึงใช้ประเด็นภัยคุกคามจากต่างชาติในการหาเสียง สร้างภาพรัสเซียเป็นผู้ร้าย (เพราะที่ผ่านมาเบลารุสมีความขัดแย้งกับรัสเซียเรื่องสนธิสัญญาสหภาพชัดเจนที่สุด) กล่าวหาฝ่ายค้านว่าร่วมมือกับรัสเซีย มีการจับกุมคนรัสเซียที่ลูคาเชงโกอ้างว่าเป็นทหารรับจ้างส่งมาป่วนประเทศเบลารุส (รัสเซียอ้างว่าทหารรับจ้างกลุ่มดังกล่าวกำลังเดินทางไปประเทศที่สามผ่านเบลารุสเฉยๆ) สื่อหลายสำนักเอาคำพูดของนายลูคาเชงโกไปประโคมข่าวใหญ่โต แต่สุดท้ายเมื่อนายลูคาเชงโกชนะการเลือกตั้ง แล้วชาวเบลารุสที่สนับสนุนฝ่ายค้านเริ่มออกมาประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ลูคาเชงโกก็ปล่อยตัวทหารรับจ้างรัสเซีย แล้วกลับไปมีความสัมพันธ์กับรัสเซียตามเดิม รวมถึงอาจขอให้ปูตินมาช่วยคุมสถานการณ์ภายในประเทศด้วย ส่วนแกนนำฝ่ายค้านเมื่อเห็นว่าเริ่มเกิดการนองเลือด เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจปราบจลาจล ก็พาครอบครัวอพยพหนีไปยุโรป แสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่ได้ต้องการป่วนเบลารุสตามที่ลูคาเชงโกโฆษณาไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่ฝ่ายค้านของเบลารุสก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดตะวันตก ไม่ใช่รัสเซีย

ส่วนตัวผมมองว่าหลังจากนี้เบลารุสอาจจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว ต่อให้ลูคาเชงโกควบคุมสถานการณ์การประท้วงได้ โดยใช้ตำรวจปราบจลาจลของเบลารุสเองเท่านั้น ฐานอำนาจของลูคาเชงโกก็จะไม่มั่นคงอีก ส่งผลต่ออำนาจต่อรองกับมหาอำนาจภายนอก ถ้าลูคาเชงโกต้องให้รัสเซียช่วยควบคุมสถานการณ์การประท้วง หลังจากนี้เบลารุสก็จะไม่สามารถต่อรองกับรัสเซียเรื่องสนธิสัญญาสหภาพได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีหรือเปล่าก็ขึ้นกับมุมมอง แต่ถ้าสถานการณ์ยกระดับกลายเป็นสงครามกลางเมือง ก็อาจซ้ำรอยซีเรียหรือยูเครน ถือเป็นกรณีศึกษาอีกกรณีหนึ่งสำหรับประเทศเล็กๆท่ามกลางเกมการเมืองระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจและประเทศที่ต้องการเป็นมหาอำนาจ ที่มีความอยู่รอดของประเทศเป็นเดิมพัน

สวัสดี

16.08.2020

แสดงความคิดเห็น