
เมื่อเกิดความวุ่นวายในเบลารุสและมีแนวโน้มว่าตะวันตกจะเข้าแทรกแซง หลายคนก็หันไปหาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ว่าจะมาช่วยประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโกของเบลารุส ทำนองเดียวกับที่เคยช่วยประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรีย หรือไม่อย่างไร ประเด็นนี้มีที่มาจากการที่หลายคนสร้างภาพรัสเซียเป็นพระผู้ช่วย ที่จะต้องมาช่วยเหลือประเทศที่ถูกข่มขู่รุกรานจากฝ่ายตะวันตกเช่นสหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก อิสราเอล ฯลฯ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปีศาจอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นสงครามระหว่างความดีความชั่วอะไรทำนองนั้น ที่น่าสนใจคือคนที่มีความเชื่อแบบนี้มักจะผิดหวังเมื่อรัสเซียไม่ได้ช่วยเหลือหลายประเทศเต็มที่ เช่นไม่ยอมใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 กับเครื่องบินรบของอิสราเอลและตะวันตกที่ปฏิบัติการในซีเรีย เป็นต้น ส่วนตัวผมมองว่าเราควรมองรัสเซียตามความเป็นจริงมากขึ้น ว่ารัสเซียก็เป็นเพียงประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งที่มีผลประโยชน์ของตัวเอง และปูตินก็เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ยอดมนุษย์หรือนักบุญผู้มาปราบจอมมารแต่อย่างใด การที่รัสเซียหรือปูตินจะออกหน้าช่วยเหลือหรือสนับสนุนประเทศอื่นๆย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก เช่นในซีเรีย รัสเซียต้องการฐานทัพในทะเลเมดิเตอเรเนียน แผ่อิทธิพลในตะวันออกกลาง รวมถึงป้องกันไม่ให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงจากในรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่ไปเข้าร่วมกลุ่มกบฏและผู้ก่อการร้าย IS มีโอกาสกลับไปก่อเหตุในประเทศต้นทางได้ เป็นต้น
แล้วรัสเซียมีผลประโยชน์อะไรในเบลารุส ? เบลารุสเป็นประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่มีความสำคัญ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย มีแนวโน้มจะบูรณาการรวมประเทศกันในอนาคตตามสนธิสัญญาสหภาพ Union State เป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย Eurasian Economic Union หรือ EAEU และองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม CSTO นอกจากนี้ที่ตั้งของเบลารุสยังเป็นหน้าด่านป้องกันกรุงมอสโกจากกองกำลัง NATO ในโปแลนด์ รวมถึงเป็นหนึ่งในทางผ่านท่อก๊าซของรัสเซียไปยุโรป จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์สำคัญที่สุดของรัสเซีย สำหรับเบลารุสในการเมืองระหว่างประเทศคือเบลารุสต้องอยู่ฝ่ายรัสเซียเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะส่งผลต่อเกียรติภูมิ ฐานะ และความมั่นคงของรัสเซียมาก
แล้วที่ผ่านมานายลูคาเชงโกให้ผลประโยชน์ข้อนี้กับรัสเซียได้หรือไม่ ? คำตอบคือได้แต่ยังไม่มากพอ อย่างที่ผมเล่าไปแล้วว่าแม้เบลารุสจะมีสนธิสัญญาสหภาพกับรัสเซีย แต่นายลูคาเชงโกกลับเตะถ่วงการดำเนินการตามสนธิสัญญาดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เรียกร้องผลประโยชน์จากรัสเซีย โดยดึงสหรัฐฯและจีนมาถ่วงดุล แม้โดยภาพรวมนโยบายต่างประเทศของเบลารุสจะเอนเอียงเข้าข้างรัสเซีย แต่ถ้าเป็นไปได้รัสเซียก็ต้องการผู้นำเบลารุสที่อยู่ฝ่ายรัสเซียอย่างแท้จริง มากกว่านายลูคาเชงโกที่ดึงอิทธิพลของสหรัฐฯและจีนเข้ามาต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์จากรัสเซีย ด้วยเหตุนี้รัสเซียอาจไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในเบลารุส ช่วยลูคาเชงโก ถ้ารัฐบาลและผู้นำใหม่ของเบลารุสยังดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่ฝ่ายรัสเซีย ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วก่อนหน้านี้ในอาร์เมเนีย ซึ่งรัสเซียไม่ได้เข้าแทรกแซงตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศแต่อย่างใด
ปัจจัยสำคัญตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับแกนนำฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในเบลารุสเองว่าจะกำหนดนโยบายต่อไปอย่างไร ถ้ายังคงร่วมมือกับตะวันตกออกนอกหน้า จนมีแนวโน้มว่าในอนาคตถ้าฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศไปเข้าข้างตะวันตก รัสเซียก็อาจต้องเข้าแทรกแซงทำนองเดียวกับยูเครน ถ้าไม่สามารถอุ้มลูคาเชงโกได้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการจัดตั้งพื้นที่กันชนให้กรุงมอสโกทำนองเดียวกับที่ใช้ดอนบาส เป็นกันชนไม่ให้ตะวันตกคุกคามเมืองโซชิได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าฝ่ายค้านเบลารุสได้เป็นรัฐบาลแล้ว ยังดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นมิตรกับรัสเซีย ทำนองเดียวกับอาร์เมเนีย รัสเซียก็ไม่จำเป็นต้องอุ้มนายลูคาเชงโก ยิ่งถ้ารัฐบาลใหม่ของเบลารุสพร้อมจะดำเนินนโยบายใกล้ชิดรัสเซียยิ่งกว่านายลูคาเชงโก รัสเซียอาจเป็นฝ่ายไล่ลูคาเชงโกออกไปเองก็ได้ เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญเลย ตอนนี้ที่ออกข่าวกันว่ารัสเซียจะมาช่วยเบลารุสนั้น ส่วนใหญ่นายลูคาเชงโกพูดเองทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อฝ่ายค้านเบลารุสมีกองบัญชาการอยู่ที่โปแลนด์และลิทัวเนีย ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกใช้เวเนซุเอลาโมเดล รวมถึงฝ่ายค้านของรัสเซียที่นิยมตะวันตกก็ติดตามสถานการณ์ในเบลารุสอยู่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ก็อาจจะมีทิศทางตามรอยยูเครนมากกว่าอาร์เมเนีย และรัสเซียอาจต้องเข้าแทรกแซงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องติดตามต่อไป
สวัสดี
18.08.2020