ระหว่างวันที่ 17 – 20 สิงหาคม ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโกมีคำสั่งให้กองทัพเบลารุสจัดการซ้อมรบทางตะวันตกของประเทศ ใกล้ชายแดนโปแลนด์และลิทัวเนีย เพื่อป้องปรามไม่ให้ตะวันตกเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในเบลารุส ส่วนหนึ่งของยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมได้แก่ “ลูกยาว” อย่างขีปนาวุธ OTR-21 Tochka และจรวดหลายลำกล้อง Polonez ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัดขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์สองรุ่นนี้กัน
1.ขีปนาวุธ OTR-21 Tochka (SS-21 Scarab)

ขีปนาวุธ OTR-21 Tochka หรือชื่อ NATO คือ SS-21 Scarab เป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ ผลิตโดยบริษัท KBM ที่เมือง Kolomna ในแคว้นมอสโก (พูดง่ายๆคือเป็นปริมณฑลของกรุงมอสโกนั่นเอง) เข้าสู่สายการผลิตเมื่อปี ค.ศ.1973 สหภาพโซเวียตส่งขีปนาวุธรุ่นนี้ไปวางกำลังในเยอรมนีตะวันออกเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1981 ขีปนาวุธ Tochka มี 3 รุ่นย่อย รุ่นที่มีการใช้งานแพร่หลายที่สุดคือ Tochka-U หรือ Scarab-B เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.1989 ระยะยิง 120 กิโลเมตร ปัจจุบันรัสเซียทยอยปลดประจำการขีปนาวุธรุ่นนี้แล้ว ทดแทนด้วยขีปนาวุธ Iskander-M ระยะยิง 500 กิโลเมตรแทน แต่หลายประเทศเช่นเบลารุส ยูเครน ซีเรีย เยเมน ฯลฯ ยังคงใช้งานขีปนาวุธ Tochka อยู่ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในสงครามซีเรียและเยเมน ระหว่างการสู้รบในดอนบาสก็มีการใช้งานขีปนาวุธรุ่นนี้อยู่เนืองๆ แต่ไม่มีข่าวออกมามากนัก
2.จรวดหลายลำกล้อง Polonez

จรวดหลายลำกล้อง Polonez ใช้จรวดขนาด 300 มิลลิเมตร 8 ท่อยิง ติดตั้งบนรถบรรทุก MZKT-7930 เข้าประจำการเมื่อปี 2016 เบลารุสพัฒนาจรวดหลายลำกล้องรุ่นนี้ร่วมกับจีน มีต้นแบบมาจากจรวดหลายลำกล้อง A200 ระยะยิง 200 กิโลเมตร ต่อมาในปี 2019 เบลารุสได้พัฒนารุ่นอัพเกรด Polonez-M มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 290 กิโลเมตร มีลูกค้าต่างประเทศคืออาเซอร์ไบจาน จัดหาจรวดหลายลำกล้อง Polonez ไปถ่วงดุลกับขีปนาวุธ Iskander-E รุ่นส่งออก ระยะยิง 280 กิโลเมตรที่รัสเซียขายให้อาร์เมเนีย
อาจกล่าวได้ว่าจรวดหลายลำกล้อง Polonez เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจรวดหลายลำกล้อง DTI-1 ระยะยิง 180 กิโลเมตรและ DTI-1G ระยะยิง 150 กิโลเมตรของไทย ซึ่งมีต้นแบบมาจากจรวดหลายลำกล้อง WS-1B และ WS-32 ของจีนตามลำดับ
สวัสดี
20.08.2020