
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยก็คือการปิดอ่าวไทย ฝ่ายที่สนับสนุนการจัดหาเรือดำน้ำอ้างว่าถ้าไม่มีเรือดำน้ำ ฝ่ายตรงข้ามอาจส่งเรือดำน้ำเข้ามาถึงใจกลางอ่าวไทย ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นอัมพาตแล้วปิดอ่าวไทยได้ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านก็อ้างว่าอ่าวไทยตื้น เรือดำน้ำไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติการได้ หรือถ้าเข้ามาได้ไทยก็สามารถใช้เรือรบผิวน้ำค้นหาได้ง่าย ไม่ว่าฝ่ายไหนจะถูกหรือผิด ส่วนตัวผมมองว่ามีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่หลายคนลืมนึกไปคือการปิดอ่าวไทยนั้น ฝ่ายตรงข้ามไม่จำเป็นต้องส่งกำลังรบเข้ามาถึงใจกลางอ่าวไทยเลย ความลึกของอ่าวไทยจึงไม่มีผล ลองดูแผนที่ประกอบนะครับ …

จากแผนที่จะเห็นได้ว่าอ่าวไทยมีทางเข้าออกทางเดียวติดกับทะเลจีนใต้ แสดงว่าฝ่ายตรงข้ามสามารถปิดอ่าวไทยโดยไม่จำเป็นต้องส่งกำลังรบเข้ามาภายในอ่าวไทยแต่อย่างใด อย่างมากที่สุดแค่วางกำลังคอยลาดตระเวณปากอ่าวไทย ระหว่างประเทศมาเลเซียและเวียดนาม จากนั้นก็ประกาศให้อ่าวไทยเป็นพื้นที่สงครามก็เพียงพอแล้ว ถ้าผมเป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะวางกำลังลาดตระเวณที่ปากอ่าวไทยนี่แหละ ถ้าไม่ได้จะยกพลขึ้นบก ก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนกำลังเข้ามากลางอ่าวไทยเลย ในกรณีนี้ถ้าไทยจะทลายวงล้อมฝ่ายตรงข้าม กองทัพเรือและกองทัพอากาศไทยต้องเป็นฝ่ายเคลื่อนกำลังออกมารบอย่างน้อยที่สุดก็ถึงปากอ่าวไทย ซึ่งอยู่ใกล้กับฐานทัพฝ่ายตรงข้ามมากกว่า แน่นอนว่าไทยย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถ้ากำลังรบไม่พร้อมหรือไม่เพียงพอ นอกจากจะเปิดวงล้อมไม่ได้แล้ว อาจพ่ายแพ้เสียหายหนักกลับมาด้วย การเสริมขีดความสามารถให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศ (กรณีที่ยังไม่มีการพัฒนาขีดความสามารถของกองบินทหารเรือ) เพื่อป้องกันอ่าวไทยจึงมีความจำเป็น และกองทัพเรือไทยควรต้องมีขีดความสามารถพอจะออกรบระยะไกลอย่างน้อยที่สุดถึงบริเวณชายขอบทะเลจีนใต้ จึงจะสามารถป้องกันอ่าวไทยได้ ยิ่งในส่วนของเรือดำน้ำนั้นเป็นนักล่า สามารถปฏิบัติการล้ำหน้ากองเรือผิวน้ำได้โดยฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตรวจพบได้ง่ายๆ ผมอยากเรียกว่าฝูงหมาป่าหรือ Wolfpack ตามชื่อยุทธวิธีเรืออูของเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เนื่องจากไทยพึ่งจะจัดหาเรือดำน้ำ S-26T จากจีน 3 ลำเท่านั้น แต่ละลำทำการฝึก ออกปฏิบัติการ และซ่อมบำรุงสลับกันไป เท่ากับว่าในภาวะปกติไทยจะมีเรือดำน้ำออกปฏิบัติทีละลำเท่านั้น อาจต้องเรียกว่าเป็นหมาป่าเดียวดาย lone wolf ไปก่อน ถ้าตอนนั้นเลือกเอา U-206 มา 6 ลำ ไม่เล่นการเมืองเตะถ่วงจนโดนโคลัมเบียโฉบไปก็จบแล้ว (ฮา)
ส่วนตัวผมมองสภาพภูมิรัฐศาสตร์ทางทะเลของไทยคล้ายกับเยอรมนีและรัสเซีย เยอรมนีมีทางออกทะเลเฉพาะทิศเหนือติดกับทะเลบอลติกและทะเลเหนือ ฐานทัพเรือหลักอยู่ที่คีลในทะเลบอลติก ก่อนจะออกทะเลเหนือได้ก็อาจถูกปิดอ่าวโดยเดนมาร์กหรือนอร์เวย์ เมื่อออกทะเลเหนือมาได้ จะออกมหาสมุทรแอตแลนติกก็อาจถูกอังกฤษปิดล้อมได้อีกซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในสงครามโลกทั้งสองครั้ง โดยที่อังกฤษไม่ต้องส่งเรือรบเข้าประชิดเมืองท่าของเยอรมันแต่อย่างใด แค่วางกำลังรออยู่ที่ช่องแคบอังกฤษและตอนเหนือของทะเลเหนือระหว่างสกอตแลนด์กับนอร์เวย์ก็เพียงพอแล้ว ต่อให้กองเรือเยอรมันผ่านพื้นที่ดังกล่าวมาได้ก็สามารถวางกำลังดักที่ช่องแคบเดนมาร์ก (อยู่ที่ไอซ์แลนด์) ได้อีกต่อหนึ่ง รัสเซียก็เช่นกัน แม้จะมีทางออกทะเลหลายทาง แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นทะเลกึ่งปิดอย่างทะเลบอลติกและทะเลดำ แม้แต่มหาสมุทรอาร์กติกซึ่งเป็นที่ตั้งกองเรือภาคเหนือ กองเรือใหญ่ที่สุดของรัสเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นน้ำแข็ง ถ้ากองเรือภาคเหนือของรัสเซียจะเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกก็ต้องผ่านพื้นที่ระหว่างไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ซึ่ง NATO ทำการลาดตระเวณตลอดเวลา เท่ากับว่าเยอรมนีและรัสเซียสามารถถูกฝ่ายตรงข้ามปิดอ่าวจากระยะไกลได้ ทำนองเดียวกับประเทศไทยอาจถูกปิดอ่าวไทยนั่นเอง การศึกษาประวัติศาสตร์และหลักนิยมของเยอรมนีและรัสเซียในการป้องกันการปิดล้อมทางทะเล แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการป้องกันอ่าวไทย จึงน่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ
สวัสดี
22.08.2020